วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

กรรมการบริษัทฯ ทำสัญญาเช่า Server จากต่างประเทศในนามของกรรมการเอง เพื่อมาใช้งานบริษัทฯ ในไทย อยากทราบถึงภาระภาษี

Inbox: ศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 10:40 น.
คุณ เจ แอนด์ ดับบลิว พรอสเพอริตี้
กราบเรียนสอบถาม ท่าน อ. คะ
กรรมการบริษัทฯ ทำสัญญาเช่า ในนามของกรรมการเอง เพื่อมาใช้งานบริษัทฯ ในไทย อยากทราบถึงภาระภาษีดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรณีกรรมการบริษัทฯ ทำสัญญาเช่า Server จากต่างประเทศในนามของกรรมการเอง เพื่อมาใช้งานบริษัทฯ ในไทย เช่นนี้ บริษัทฯ ควรมีหนังสือมอบหมายให้กรรมการดำเนินการแทนบริษัทฯ ในนามของกรรมการ
1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ สามารถนำค่าเช่า Server มาถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เพราะเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ เพียงแต่ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนตามข้อแนะนำข้างต้น
2. กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องได้ทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ประเทศที่ตั้งของบริษัทผู้ให้เช่า Server ว่า เป็นประเทศใด มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่ และในอนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดให้สิทธิการเช่า เป็น “ค่าสิทธิ” (Royalty) หรือไม่
....(1) กรณีประเทศที่ตั้งของบริษัทผู้ให้เช่า Server ว่า เป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย และในอนุสัญญาภาษีซ้อน “ไม่ได้” กำหนดให้สิทธิการเช่า เป็น “ค่าสิทธิ” (Royalty) ถือว่า ค่าเช่า Server เป็น “กำไรจากธุรกิจ” บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะตามอนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดให้ประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้จาก “กำไรจากธุรกิจ” ได้เฉพาะกรณีวิสาหกิจนั้น ประกอบกิจการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยเท่านั้น
....(2) กรณีประเทศที่ตั้งของบริษัทผู้ให้เช่า Server ว่า เป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย และในอนุสัญญาภาษีซ้อน “ได้” กำหนดให้สิทธิการเช่า เป็น “ค่าสิทธิ” (Royalty) ให้บริษัทฯ คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ตามอัตราที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อน แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ แล้วนำส่งพร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
....(3) กรณีประเทศที่ตั้งของบริษัทผู้ให้เช่า Server ว่า เป็นประเทศที่ “ไม่มี” อนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ให้บริษัทฯ คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราที่ 15% ของเงินได้ แล้วนำส่งพร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
3. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากการเช่า Server ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย จึงเป็นกิจการทีอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตรา 7.0% ของเงินได้ และนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น