วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

สอบถามเกี่ยวกับการโอนกิจการจากบุคคลธรรมดาจดภาษีมูลค่าเพิ่มไปบริษัทดังนี้ครับ

Inbox: จันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 14:57 น.
คุณ Oba Krab
สวัสดีครับอาจารย์
ขอรบกวนสอบถามเกี่ยวกับการโอนกิจการจากบุคคลธรรมดาจดภาษีมูลค่าเพิ่มไปบริษัทดังนี้ครับ
ขอสอบถามว่า
ร้านบุคคลธรรมดาเข้าภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องการโอนกิจการเพื่อนำสินค้าคงเหลือและทรัพยสินไปให้บริษัท สอบถามว่ามีขั้นตอนอย่างไร และบุคคลต้องเสียภาษีในยอดที่โอนหรือไม่ และการได้รับการโอนบริษัท ต้องมีการบันทึกบัญชีอย่างไร ครับ
ขอบคุณครับ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรมสรรพากรได้วางแนวปฏิบัติตามหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/พ./10316 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2550 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการแจ้งเลิกและโอนกิจการ มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 40 (8) มาตรา 42 (9) และมาตรา 77/1 (8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
ข้อหารือ
....นาย ส. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการขายเพชร พลอยรูปพรรณ จะเลิกประกอบกิจการโดยโอนกิจการทั้งหมดให้แก่ห้างหุ้นส่วนสามัญ ร. นาย ส. จึงหารือว่า
....1. การโอนสินค้าคงเหลือให้ห้างหุ้นส่วนสามัญ ร. ดังกล่าว ถือเป็นการขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
....2. การโอนกิจการดังกล่าวจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย
เลขตู้ : 70/35372
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
กรณีร้านบุคคลธรรมดาเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องการโอนกิจการเพื่อนำสินค้าคงเหลือและทรัพยสินไปให้บริษัท นั้น
1. ขั้นตอนการดำเนินการโอนกิจการ
....1.1 บริษัทฯ ที่จะรับโอนกิจการต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อการรับโอนกิจการทั้งหมดจากผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นบุคคลธรรมดา
....1.2 ทั้งสองกิจการต้องยื่นแบบ ภ.พ.09 เพื่อโอนกิจการทั้งหมดตามมาตรา 85/13 แห่งประมวลรัษฎากร ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันโอนกิจการ โดยยื่นแบบคำขอโอนกิจการต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่สถานประกอบการตั้งอยู่
.........“มาตรา 85/13 ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดประสงค์จะโอนกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้น แจ้งการโอนกิจการและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถ้ามี หรือแจ้งการโอนและแจ้งการเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 แล้วแต่กรณี ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ก่อนวันโอนกิจการไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
.............ในกรณีที่ผู้รับโอนกิจการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ผู้รับโอนแจ้งการรับโอนกิจการและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถ้ามี ณ สถานที่ที่ผู้รับโอนได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันรับโอนกิจการ และในกรณีที่ผู้รับโอนไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ผู้รับโอนยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันรับโอนกิจการ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ผู้รับโอนประกอบกิจการดังกล่าวต่อเนื่องไปพลางก่อนได้
.............ให้นำมาตรา 85/15 วรรคสองมาใช้บังคับในกรณีที่เป็นการโอนกิจการทั้งหมด”
....1.3 ให้ถือว่า ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา เลิกกิจการ ตามมาตรา 85/15 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.20 ต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายในสิบห้าวันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ
2. การโอนกิจการทั้งหมดของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นบุคคลธรรมดา
....2.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
..........(1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับเงินค่าสินค้าคงเหลือที่มีไว้เพื่อขยในการโอนกิจการให้บริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณและยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 ของเงินได้ หรือเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 (11) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502
..........(2) สำหรับการโอนทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ ถือเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (9) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในบังคับ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 รวมทั้งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยมีสิทธิเลือกที่จะไม่นำ เงินได้ไปรวมคำนวณเสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ไม่ขอรับเงินภาษี ที่ถูกหักไว้นั้นคืน และไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2544
....2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
..........กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นบุคคลธรรมดาได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การโอนทรัพย์สินและสินค้าคงเหลือดังกล่าว ไม่ถือเป็นการขาย ตามมาตรา 77/1(8) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
อ้างอิง: หนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/พ./10316 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2550
3. การบันทึกบัญชี
....3.1 สำหรับบุคคลธรรมดา ไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี มีแต่หน้าที่ในการจัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และรายละเอียดสินค้า ณ วันเลิกกิจการ
....3.2 สำหรับบริษัท ให้บันทึกรับโอนสินค้าคงเหลือและทรัพย์สินที่รับโอนตามมูลค่าที่ตกลงกัน หักด้วยหนี้สิน (ถ้ามี) แล้วบันทึกรายการบัญชีโดย
เดบิต สินค้า
........สินทรัพย์
....เครดิต หนี้สิน (ถ้ามี)
..............ทุน/เงินสด หรือเงินฝากธนาคาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น