วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

บิลที่ได้รับมาจากทางร้านเป็นบิลเงินสดระบุที่อยู่ร้านและชื่อร้าน แต่ทางมหาวิทยาลัยบอกว่า บิลไม่ผ่าน โดยให้ไปขอให้ทางร้านที่ไปซื้อเขียนเลขบัตรประจำตัวประชาชนลงในบิลเงินสด

Inbox: ศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 22:29 น.
คุณ Rattana Saosurin
สวัสดีค่ะ
พอดีทำโครงการแล้วต้องซื้อของโดยใช้งบจากทางมหาวิทยาลัย ซึ่งบิลที่ได้รับมาจากทางร้านเป็นบิลเงินสดระบุที่อยู่ร้านและชื่อร้าน แต่ทางมหาวิทยาลัยบอกว่า บิลไม่ผ่าน โดยให้ไปขอให้ทางร้านที่ไปซื้อเขียนเลขบัตรประจำตัวประชาชนลงในบิลเงินสด ในกรณีนี้ อยากทราบว่าการให้เขียนเลขบัตรประจำตัวประชาชนลงในบิลเงินสดนี้จำเป็นไหมคะ ไม่เข้าใจว่า ทำไมจะต้องเขียน แล้วถ้าเขียนเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีแทนจะได้ไหมคะ แล้วร้านค้าปกติ(ร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี่)เขาจะมีเลขปนะจำตัวผู้เสียภาษีไหมคะ เพราะส่วนมากเขาจะไม่ให้เลขบัตรประชาชนค่ะ กังวลมากๆ ว่า บิลจะไม่ผ่านค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามมาตรา 105 และมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
....“มาตรา 105 ในกรณีต่อไปนี้ ผู้ขาย ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้รับเงิน หรือผู้รับชำระราคาต้องออกใบรับให้แก่ผู้ซื้อ ผู้เช่าซื้อ ผู้จ่ายเงินหรือผู้ชำระราคา ในทันทีทุกคราวที่รับเงินหรือรับชำระราคาไม่ว่าจะมีการเรียกร้องให้ออกใบรับหรือไม่ก็ตาม
........(1) การรับเงินหรือรับชำระราคาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 และการรับเงินหรือรับชำระราคาจากการกระทำกิจการของผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งพันบาทไม่ได้
........(2) การรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีอื่นซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้
........ถ้าการรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีเดียวกันมีจำนวนเกินกว่าที่อธิบดีกำหนด ตาม (1) หรือ (2) แต่มีเงื่อนไขให้รับเงินหรือรับชำระราคาในภายหลังเป็นหลายงวด ให้ออกใบรับทุกคราวในทันทีที่รับเงินหรือรับชำระราคานั้น
........ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความแสดงว่าได้รับเงินหรือรับชำระราคาแล้ว จะถือเอาใบกำกับภาษีนั้นเป็นใบรับที่ต้องออกตามมาตรานี้ก็ได้
มาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การจำหน่ายแสตมป์อากร หรือแสตมป์อื่นของรัฐบาลที่ยังมิได้ใช้
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 34) ประกอบ)
....มาตรา 105 ทวิ ในการออกใบรับ ให้ผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 (1) หรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 (2) เฉพาะผู้ซึ่งกระทำเป็นปกติธุระ ทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับ และเก็บต้นขั้วหรือสำเนาใบรับดังกล่าวไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ออกใบรับ
........ถ้าปรากฏว่าการรับเงินหรือรับชำระราคาที่ต้องทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่ง ไม่มีต้นขั้วหรือสำเนาใบรับ ให้สันนิษฐานว่าไม่ได้ออกใบรับ
........ใบรับและต้นขั้ว หรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีตัวเลขไทยหรืออารบิค และอักษรไทยให้ปรากฏข้อความต่อไปนี้
........(1) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
........(2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
........(3) เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
........(4) วันเดือนปีที่ออกใบรับ
........(5) จำนวนเงินที่รับ
........(6) ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า ในกรณีการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้า เฉพาะชนิดที่มีราคาตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทขึ้นไป
........ในกรณีผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้ขายส่ง ขายสินค้าให้แก่ผู้ซึ่งทำการค้าสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าที่ขายนั้น ให้แสดงชื่อหรือยี่ห้อและที่อยู่ของผู้ซื้อไว้ในใบรับที่ต้องออกตามวรรคหนึ่งด้วยทุกคราวที่ได้รับชำระเงินหรือรับชำระราคา ข้อความในใบรับเช่นว่านี้ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับ
........ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กิจการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
(ดู กฎกระทรวง ฉบับที่ 141 (พ.ศ. 2521) ประกอบ)
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23) ประกอบ)
....ในปัจจุบันนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 3) ได้กำหนดว่า “กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีและใช้เลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนนั้นในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด”
ดังนั้น เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรสำหรับคนไทยทั่วไป ได้แก่ เลฃประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร นั่นเอง และควรศึกษาบทบัญญัติมาตรา 105 และมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อนำไปชี้แจงผู้ออกใบเสร็จรับเงิน หรือบิลเงินสดให้เข้าใจต่อไปด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น