วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

สอบถามเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้ค่ะ

Inbox: 11/10/2017 เวลา 14:19
คุณ Kes Chun
สวัสดีค่ะอาจารย์
ขอรบกวนสอบถามเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้ค่ะ
ขอสอบถามว่า
1. บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีขายเมื่อใด ระหว่างขายให้กับลูกค้าหรือได้รับเงินจากทางห้างฯ
2. บริษัทฯ มีการจ่ายค่าตอบแทนจากการขายให้กับทางห้าง 10 - 15% ทางห้างฯ จะหักออกจากเงินที่จะคืนให้กับทางบริษัทฯ หากบริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีขายให้กับทางห้างฯ ยอดเงินที่ออกใบกำกับภาษีจะต้องเป็นยอดก่อนหักค่าตอบแทน หรือหลังหักค่าตอบแทน ขอขอบคุณมากค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการขายผัดไทเช่าพื้นที่ในศูนย์อาหารของคิงส์ พาวเวอร์ ซึ่งการขายในแต่ละครั้งที่ลูกค้ามาซื้อจะได้รับเป็นคีย์การ์ด /คูปอง (ซึ่งไม่ได้รับเงินสดโดยตรงจากลูกค้า) เงินดังกล่าวจะไปอยู่กับทางห้างฯ ซึ่งทางห้างฯ จะเคลียร์เงินดังกล่าวให้ทุก 15 วัน โดยบริษัทฯ มีการจ่ายค่าตอบแทนจากการขายให้กับทางห้าง 10 - 15% ทางห้างฯ จะหักออกจากเงินที่จะคืนให้กับทางบริษัทฯ นั้น
ขอเรียนว่า ข้อเท็จจริงตามที่แจ้งไปนั้น ยังไม่ครบถ้วน ในส่วนของข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ ก้บห้างฯ ว่า ผู้ใดเป็นผู้ที่ประกอบกิจการจำหน่ายอาหารให้แก่ลูกค้าผู้บริโภค จึงต้องขอตอบแยกเป็นสองกรณี (เหนื่อยมากขึ้น โดยไม่จำเป็น!!! หรือจำเป็นสำหรับเพื่อนท่านอื่น 555)
กรณีที่หนึ่ง ห้างฯ เป็นผู้จำหน่ายอาหารให้แก่ลูกค้าผู้บริโภค เท่ากับ
....(1) บริษัทฯ เป็นผู้ขายอาหารให้แก่ห้างฯ เช่นนี้ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในทันทีที่ส่งมอบอาหารให้แก่ห้างฯ ตามราคาที่ตกลงกัน คือราคาสุทธิหลังจากหักค่าตอบแทนจากการขาย
.........แต่ประเด็นปัญหา คือ ห้างฯ จะเคลียร์เงินดังกล่าวให้ทุก 15 วัน แต่ความรับผิดเกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งตามข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 155/2560 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป วางแนวทางปฏิบัติกำหนดยอมให้สามารถจัดทำใบกำกับภาษีรวมเพียงครั้งเดียวในหนึ่งวันทำการสำหรับการขายสินค้าชนิดและประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้ารายหนึ่งรายใดเป็นจำนวนหลายครั้งในหนึ่งวันทำการได้ ดังนี้
.........“ข้อ 1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และหรือมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูปจะต้องจัดทำใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้า หรือให้บริการพร้อมกับการชำระราคาค่าบริการ โดยเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการชนิดและประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการรายหนึ่งรายใดเป็นจำนวนหลายครั้งในหนึ่งวันทำการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวสามารถจัดทำใบกำกับภาษีรวมเพียงครั้งเดียวในหนึ่งวันทำการสำหรับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการรายนั้นก็ได้”
.........ดังนั้น ในกรณีนี้ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ห้างฯ ทุกวันตามมูลค่าที่ตกลงกัน (สุทธิหลังหักค่าตอบแทน) และบันทึกรายงานภาษีขาย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบด้วย
....(2) บริษัทฯ เป็นผู้รับจ้างปรุงหรือประกอบอาหารให้แก่ห้างฯ เช่นนี้ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการจากห้างฯ
.........ดังนั้น ในกรณีนี้ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ห้างฯ เมื่อได้รับชำระค่าบริการทุก 15 วันตามมูลค่าที่ตกลงกัน (สุทธิหลังหักค่าตอบแทน) และบันทึกรายงานภาษีขาย โดยบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
กรณีที่สอง บริษัทฯ เป็นผู้จำหน่ายอาหารให้แก่ลูกค้า ให้จัดทำคูปองเป็นใบกำกับภาษีอย่างย่อแล้ว บริษัทฯ จึงไม่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้า เพียงแต่รวบรวมยอดขายในแต่ละวันมาบันทึกรายงายภาษีขาย เช่นเดียวกับกิจการ “ภัตตาคาร” โดยต้องรับรู้รายได้เต็มมูลค่าอาหารที่ได้รับคูปอง/คีย์การ์ดจากลูกค้า และห้างฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ ทุก 15 วัน ตามจำนวนที่ตกลงกัน
ต้องขอโทษที่ตอบปัญหาให้ล่าช้าไปมาก คงจะได้คำตอบจากแหล่งอื่นแล้ว เป็นเพราะก่อนหน้านี้ ไม่ทราบว่ามีการถามทางช่องทาง Inbox รวมทั้งประกาศว่า ไม่รับตอบปัญหาทางข่องทาง Inbox เนื่องจาก low tech ไม่เชี่ยวชาญ แต่กว่าจะได้เรียนรู้ จึงทำให้เกิดความล่าช่าดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น