วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

สอบถามเกี่ยวกับกรณีการติดอากรแสตมป์สัญญาจ้างทำของที่ไม่ได้ระบุระยะเวลาสิ้นสุดการจ้าง แนวทางปฎิบัติในการติดอากรแสตมป์จะต้องปฎิติอย่างไรคะ

Inbox: พฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 10:29 น.
คุณ กาญจน์ จัง
เรียน อาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ ที่เคารพ
เรียน สอบถามเกี่ยวกับกรณีการติดอากรแสตมป์สัญญาจ้างทำของที่ไม่ได้ระบุระยะเวลาสิ้นสุดการจ้าง แนวทางปฎิบัติในการติดอากรแสตมป์จะต้องปฎิติอย่างไรคะ
ข้อมูลเพิ่มเติมคือมูลค่าสัญญาที่เรียกเก็บต่อเดือนคือ 24,000.-บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)
ขอบคุณค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามข้อ 5 และข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 153/2559 ได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารจ้างทำของตามลักษณะตราสาร 4 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ไว้ดังนี้
....“ข้อ 5 ตราสารจ้างทําของที่ต้องเสียอากร หมายถึง เอกสารการจ้างทําของซึ่งผู้รับจ้างตกลง
ทําการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสําเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเป็นการตอบแทน
โดยคู่สัญญาได้ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย
........ตัวอย่าง
........(1) บริษัท ก จํากัด ว่าจ้างบริษัท ข จํากัด ซึ่งประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างให้สร้างอาคารสํานักงาน โดยบริษัท ก จํากัด แจ้งให้บริษัท ข จํากัด ประเมินราคางานเบื้องต้น ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และบริษัท ข จํากัด ทําใบเสนอราคา (Quotation) ให้แก่บริษัท ก จํากัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ต่อมาบริษัท ก จํากัด และบริษัท ข จํากัด ได้ทําสัญญาจ้างและลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายในวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัท ข จํากัด ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่ได้จัดทําตราสารจ้างทําของ...
....ข้อ 6 ผู้รับจ้างตามข้อ 5 มีหน้าที่ต้องเสียอากร 1 บาท ต่อทุกจํานวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
........กรณีไม่ทราบจํานวนสินจ้างในขณะทําสัญญาจ้างทําของว่าเป็นจํานวนเท่าใด ให้ประมาณจํานวนสินจ้างตามสมควร แล้วเสียอากรตามจํานวนสินจ้างที่ประมาณนั้น
........กรณีมีการรับเงินสินจ้างเป็นคราว ๆ และอากรที่เสียไว้เดิมยังไม่ครบ ให้เสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามจํานวนที่ต้องเสียทุกครั้งในทันทีที่มีการรับเงิน
........ตัวอย่าง...
........(6) บริษัท ก จํากัด ได้ทําสัญญาจ้างนาย ข เป็นที่ปรึกษาทางการตลาด และแนะนําลูกค้า โดยคิดสินจ้างในอัตราร้อยละ 2 ของยอดขายของบริษัท ก จํากัด ในแต่ละปี ทําให้ไม่อาจทราบจํานวนสินจ้งในขณะทําสัญญา จึงประมาณสินจ้างตามสมควรไว้จํานวน 800,000 บาท นาย ข ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรจากมูลค่า 800,000 บาท ต่อมา เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง บริษัท ก จํากัด จ่ายสินจ้างตามผลงานที่นาย ข ทําได้จํานวนรวมทั้งสิ้น 1,000,000 บาท นาย ข ผู้รับจ้าง มีหน้าที่ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินจากมูลค่า 200,000 บาทที่เพิ่มขึ้น ในทันทีที่มีการรับเงิน...”
ดังนั้น กรณีสัญญาจ้างทำของที่ไม่ได้ระบุระยะเวลาสิ้นสุดการจ้าง ไม่ทราบจํานวนสินจ้างในขณะทําสัญญาจ้างทําของว่าเป็นจํานวนเท่าใด ให้ประมาณจํานวนสินจ้างตามสมควร แล้วเสียอากรตามจํานวนสินจ้างที่ประมาณนั้น กรณีมีการรับเงินสินจ้างเป็นคราว ๆ และอากรที่เสียไว้เดิมยังไม่ครบ ให้เสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามจํานวนที่ต้องเสียทุกครั้งในทันทีที่มีการรับเงิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น