วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

ข้าราชการได้รับเงินบำนาญ เงินบำนาญดังกล่าวจะต้องนำมาคำนวณภาษีหรือไม่ ข้าราชการเลือกรับเงินบำเหน็จในตอนที่เกษียณอายุราชการ ต้องเสียภาษีหรือไม่

Inbox: อาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562 เวลา 15:41 น.
คุณ Phalachai Fookaittiphong
เรียนท่านอาจารย์สุเทพที่เคารพ
ผมขอสอบถามว่า
1. กรณีข้าราชการได้รับเงินบำนาญ เงินบำนาญดังกล่าวจะต้องนำมาคำนวณภาษีหรือไม่ (มีความเข้าใจกันว่า ข้าราชการบำนาญไม่ต้องเสียภาษีครับ)
2. กรณีข้าราชการเลือกรับเงินบำเหน็จในตอนที่เกษียณอายุราชการ ต้องเสียภาษีหรือไม่
ขอขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาให้ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้เสียภาษีครับ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
1. กรณีข้าราชการได้รับเงินบำนาญ รวมทั้งเงินบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินบำนาญดังกล่าวจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ความเข้าใจที่ว่า ข้าราชการบำนาญไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นความเข้าใจที่ผิดครับ)
2. กรณีข้าราชการเลือกรับเงินบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในตอนที่เกษียณอายุราชการ หรือลาออก ข้าราชการผู้นั้นได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (43) และ (44) ดังต่อไปนี้
....“(43) เงินได้เท่าที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินห้าแสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป)
....“(44) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังต่อไปนี้
........(ก) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับ เนื่องจากสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการออกจากราชการเพราะตาย เหตุทุพพลภาพ เหตุทดแทน หรือเหตุสูงอายุ
........(ข) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่มีสิทธิได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เนื่องจากสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการออกจากราชการในกรณีอื่นนอกจาก (ก) แต่เมื่อออกจากราชการแล้วได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ทั้งจำนวนในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และต่อมาได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากสมาชิกผู้นั้นตาย ทุพพลภาพ หรืออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 277 (พ.ศ. 2553) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป)
ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก “เปรียบเทียบระบบบำเหน็จบำนาญกับระบบ กบข.”
https://www.gpf.or.th/thai20…/about/pension-thai-compare.asp

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น