วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562

ไม่ต้องนำรายได้เงินชดเชยดังกล่าวมาถือเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้วาลูกค้าดังกล่าวจะไม่ต้องการให้ส่งฉลากที่เลิกใช้นั้น

คุณ เล็ก แพ็ท “พัชรินทร์” (2 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 18:50 น.) 
กราบเรียน อาจารย์ที่เคารพ 
วันนี้มีเรื่องมารบกวนสอบถามอาจารย์อีกครั้งคะ 
บริษัทฯ มีการซื้อฉลากสินค้าสำหรับติดสินค้าเพื่อส่งออกไปให้กับลูกค้ารายหนึ่งที่ต่างประเทศ มีการขอคืนซื้อถูกต้อง ต่อมาลูกค้าต่างประเทศแจ้งว่า ฉลากสินค้าดังกล่าวมีข้อความต้องห้าม มิให้ใช้ในต่างประเทศนั้น ลูกค้าจึงขอยกเลิกการใช้ฉลากสินค้านั้นทั้งหมด และขอให้บริษัทเปลี่ยนรูปแบบฉลากใหม่ตามที่ลูกค้าต่างประเทศกำหนดมา โดยฉลากเก่าที่คงเหลือในสต๊อคทั้งหมดซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านบาท ทางลูกค้าต่างประเทศยินยอมชดเชยเงินให้เป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งแปลงค่าเป็นเงินบาทประมาณ 1.0 ล้านบาท และขอผ่อนจ่ายเป็น 7 งวด โดยในปี 2561 ได้มีการจ่ายชดเชยแล้ว 3 งวด เป็นเงิน 0.4 ล้านบาท จึงขอเรียนสอบถามอาจารย์ ดังนี้คะ 
1. เงินชดเชยที่บริษัทจะได้รับ 1 ล้านบาท บริษัทต้องบันทึกรับรู้เป็นรายได้อื่นทั้งจำนวนในปี 2561 และบันทึกลูกหนี้สำหรับส่วนที่ยังไม่ได้รับชดเชย และปรับอัตราแลกเปลี่ยนลูกหนี้สิ้นปี หรือรับรู้เฉพาะส่วนที่ได้รับในแต่ละปีเป็นรายได้อื่น ไม่บันทึกลูกหนี้ นอกจากนี้บริษัทยังคงต้องมีภาระเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่คะ เพราะลูกค้าต่างประเทศไม่ต้องการให้ส่งฉลากที่เลิกใช้นั้น จึงไม่ถือเป็นการส่งออก หากมีภาระภาษีขายจะคำนวณจากฐานใดคะ
2. บรรจุภัณฑ์ฉลากคงเหลือ 1.2 ล้านบาท บริษัทสามารถตัดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในงบการเงินปี 2561ได้หรือไม่คะ จะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่คะ เนื่องจากบริษัทไม่สามารถนำไปใช้กับลูกค้ารายอื่นได้อีก หากในปี 2562 บริษัทนำไปจ้างบริษัทหนึ่งทำลายทิ้ง ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย บริษัทต้องดำเนินการแจ้งทำลายกับกรมสรรพากรหรือไม่คะ หรือหากในปี 2562 บริษัทสามารถหาผู้รับซื้อได้ โดยการขายเหมาชั่งกิโลเป็นพลาสติกเสีย สมมติได้ราคาประมาณ 5000 บาท บริษัทต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 327.10 บาท ใช่หรือไม่คะ และในทางภาษีอากรบริษัทควรบันทึกรายการดังกล่าวเป็นรายได้ และค่าใช้จ่าย ในปี 2561 และปี 2562 ให้ถูกต้องอย่างไรคะ รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยคะ 
ขอบคุณมากคะ 
ขอแสดงความนับถืออย่างสูงคะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์ 
วิสัชนา: 
กรณีบริษัทฯ สั่งทำฉลากสินค้าสำหรับติดสินค้าเพื่อส่งออกไปให้กับลูกค้ารายหนึ่งที่ต่างประเทศ มีการขอคืนซื้อถูกต้อง ต่อมาลูกค้าดังกล่าวแจ้งว่า ฉลากสินค้าดังกล่าวมีข้อความต้องห้าม มิให้ใช้ในต่างประเทศนั้น ลูกค้าจึงขอยกเลิกการใช้ฉลากสินค้านั้นทั้งหมด และขอให้บริษัทเปลี่ยนรูปแบบฉลากใหม่ตามที่ลูกค้าต่างประเทศกำหนดมา โดยฉลากเก่าที่คงเหลือในสต๊อคทั้งหมดซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านบาท ทางลูกค้าต่างประเทศยินยอมชดเชยเงินให้เป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งแปลงค่าเป็นเงินบาทประมาณ 1.0 ล้านบาท และขอผ่อนจ่ายเป็น 7 งวด โดยในปี 2561 ได้มีการจ่ายชดเชยแล้ว 3 งวด เป็นเงิน 0.4 ล้านบาท นั้น
1. เงินชดเชยที่บริษัทจะได้รับ 1 ล้านบาท บริษัทฯ ต้องบันทึกรับรู้เป็นรายได้อื่นทั้งจำนวนในปี 2561 และบันทึกลูกหนี้สำหรับส่วนที่ยังไม่ได้รับชดเชย และปรับอัตราแลกเปลี่ยนลูกหนี้สิ้นปี โดยบริษัทฯ ไม่ต้องนำรายได้เงินชดเชยดังกล่าวมาถือเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้วาลูกค้าดังกล่าวจะไม่ต้องการให้ส่งฉลากที่เลิกใช้นั้น ก็ตาม
2. บรรจุภัณฑ์ฉลากคงเหลือจำนวน 1.2 ล้านบาท บริษัทฯ สามารถตัดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในงบการเงินปี 2561 ได้ ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยตีราคาบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวตามราคาตลาด (5,000 บาท) ทั้งนี้ ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ เพราะบริษัทฯ ได้รับรู้รายได้ตามข้อ 1 ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2561 แล้ว 
....การที่บริษัทฯ สามารถหาผู้รับซื้อได้ โดยการขายเหมาชั่งกิโลเป็นเศษซากพลาสติกได้เป็นเงิน 5,000 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 โดยบริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 327.10 บาท และในทางภาษีอากรบริษัทควรบันทึกรายการขายเศษซากดังกล่าวเป็นรายได้ และค่าใช้จ่าย ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น