วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

สินทรัพย์เช่าซื้อค่าเสื่อมราคาทางภาษีอากร คือ ไม่เกินจำนวนเงินงวดที่ผ่อนชำระในแต่ละรอบบัญชีใช่หรือไม่คะ

Inbox: อาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09:32 น. 
คุณ Sulisa Prawasee
อาจารย์ค่ะ (“คะ” ไม่ต้องการไม้เอก!) สินทรัพย์เช่าซื้อค่าเสื่อมราคาทางภาษีอากร คือ ไม่เกินจำนวนเงินงวดที่ผ่อนชำระในแต่ละรอบบัญชีใช่หรือไม่คะหนูเห็นผจก.บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายบวกกลับทั้งก้อนค่ะ 
ขอบคุณมากค่ะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ ดังนี้
....“มาตรา 7 ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ หรือโดยการซื้อขายเงินผ่อนมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นให้ถือตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมด แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น”
นอกจากนี้ ต้องศึกษาควบคู่กันไปกับแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรตามข้อ 7 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 3/2527 จึงจะสามารถทำความเข้าใจได้ชัดเจนดีกว่า ดังนี้
....“ข้อ 7 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อหรือซื้อขายเงินผ่อน ให้ถือมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายเงินผ่อน และให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมูลค่าต้นทุนดังกล่าว แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเมื่อรวมกับค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่หักไปในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ (ถ้ามี) แล้วจะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อ หรือราคาที่ต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
....ในกรณีที่ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือราคาตามสัญญาครบถ้วนแล้ว โดยทรัพย์สินดังกล่าวยังคงมีมูลค่าต้นทุนหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นเหลืออยู่ก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่นั้นได้ต่อไป”
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
การคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทางภาษีอากร สำหรับสินทรัพย์ที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ นั้น ให้ถือปฏิบัติดังนี้
1. ให้รับรู้มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ หรือโดยการซื้อขายเงินผ่อน นั้น ให้ถือตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมด ได้แก่ ค่างวดที่ต้องชำระตลอดอายสัญญาเช่าซื้อหรือซื้อขายเงินผ่อน (ที่กรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอนไปยังผู้ซื้อ) ทั้งส่วนของเงินต้นและดอกผลเช่าซื้อฯ รวมทั้งค่าภาษีซื้อสำหรับทรัพย์สินบางประเภทที่ไม่สามารถนำภาษีซื้อไปใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ จึงให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมูลค่าต้นทุนดังกล่าว
....ในกรณีที่ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือราคาตามสัญญาครบถ้วนแล้ว โดยทรัพย์สินดังกล่าวยังคงมีมูลค่าต้นทุนหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นเหลืออยู่ก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่นั้นได้ต่อไป
2. กรณีที่ระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกินกำหนดเวลาในการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา และผู้เช่าซื้อได้ชำระค่างวดจนครบตามสัญญา กิจการไม่ต้องคำนึงถึง ข้อความ “...แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น” แต่อย่างใด เพราะจำนวนค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสะสมของทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ ย่อมไม่เกินกว่าค่าเช่าซื้อทั้งจำนวน เช่น ระยะเวลาการผ่อนชำระตามสัญญาเช่าซื้อ 3 ปี แต่อายุการใช้งาน เพื่อการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา 5 ปี เช่นนี้ ในปีที่ 3 - ปีที่ 5 แม้จำนวนค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจะมีจำนวนเกินกว่าค่าผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชี แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสะสม ย่อมไม่เกินกว่าค่าเช่าซื้อที่ได้ผ่อนชำระแล้วทั้งสิ้น
3. ข้อความ “...แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น” นั้น ให้นำไปประยุกต์ใช้เฉพาะกรณีทิ่กิจการไม่สามารถผ่อนชำระได้ครบตามกำหนด หรืออายุการใช้งานเพื่อการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสั้นกว่าระยะเวลาการผ่อนชำระ เช่นนี้ ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเมื่อรวมกับค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่หักไปในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ (ถ้ามี) แล้วจะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อ หรือราคาที่ต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
ดังนั้น การพิจารณาบวกกลับค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามที่แจ้งไป อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจทำให้กิจการเสียหายโดยไม่จำเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น