วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562

ภาระภาษีเรื่องการจ่ายเงินค่าปรับกรณีจ่ายชำระเงินล่าช้า

Inbox: 21 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 22:46 น. 
คุณ Marond K. Cavatica
เรียน อ.สุเทพ
กระผมมีความสงสัยเกี่ยวกับภาระภาษีเรื่องการจ่ายเงินค่าปรับกรณีจ่ายชำระเงินล่าช้า โดยมีรายละเอียดกรณีศึกษาดังนี้
บริษัท ก (ผู้รับบริการ) จ้างงาน/จ้างทำของ บริษัท ข (ผู้ให้บริการ) โดยไม่ได้ทำเป็นสัญญา 
ทุก ๆ เดือน บริษัท ข จะทำใบแจ้งหนี้เรียกเก็บค่าบริการ ต่อมาภายหลัง บริษัท ก ไม่ได้จ่ายชำระค่าบริการมาเป็นระยะเวลา 6 เดือน แต่ก็ได้ชำระค่าบริการที่ค้างไปในที่สุด
ทางบริษัท ข เห็นว่าลูกค้าจ่ายเงินล่าช้า จึงคิดดอกเบี้ยค่าปรับการจ่ายเงินล่าช้า โดยอ้างอิงจากใบแจ้งหนี้ที่ตีพิมพ์ไว้ในแบบฟอร์ม สมมติว่าร้อยละ 2 ต่อเดือน โดยคำนวณดอกเบี้ยค่าปรับจากการจ่ายเงินล่าช้า สมมติต่อไปอีกว่าค่าปรับคำนวณได้เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท
คำถามของกระผมคือ
1. บริษัท ข สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยค่าปรับการจ่ายเงินล่าช้าได้หรือไม่ และถ้าได้ ภาระทางภาษีจะเป็นอย่างไร
2. อ้างอิงที่กระผมหาได้ ประมวลแพ่งฯ มาตรา 379 กำหนดว่าลูกหนี้ถูกปรับได้ แต่ประมวลรัษฎากรยังไม่เจอแนวทางปฏิบัติ ทีนี้ ถ้าผมจะเอาหนังสือตอบข้อหารือ กค0811/3074 ข้อที่ 1.3 (ค) มาเทียบเคียงเป็นแนวทาง จะเหมาะสมหรือไม่

http://www.rd.go.th/publish/25456.0.html
รบกวนอ.สุเทพ ด้วยนะครับ
ขอแสดงความนับถือ
เรียนอ.สุเทพ
ผมหาคำตอบได้แล้ว แต่ยังหาอ้างอิงเป็นกิจลักษณะไม่เจอ กรมฯ ถือว่าเป็นเงินได้ 40(4)(ก)
ขอบคุณมากครับ


สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา
ค่าปรับเนื่องจากชำระเงินล่าช้า ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือร้อยละ 24 ต่อปี นั้น เป็นจำนวนที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายยอมให้คิดคือ 7.5% ต่อปี
1. บริษัท ข สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยค่าปรับการจ่ายเงินล่าช้าได้ ภาระภาษีของบริษัท ข เป็นดังนี้
....(1) ค่าปรับเนื่องจากชำระเงินล่าช่า เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร - ในส่วนที่เป็นผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด
....(2) บริษัท ข ต้องนำค่าปรับไปถือรวมเป็นรายได้เนื่องจากกิจการ (รายได้อื่น) ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่เรียกเก็บค่าปรับดังกล่าว
....(3) เนื่องจากค่าปรับเนื่องจากการชำระหนี้ล่าช้า ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องคำนวณหักภาษ๊เงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 บริษัท ข จึงไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ทีจ่าย สำหรับค่าปรับดังกล่าวแต่อย่างใด
....(4) ค่าปรับดังกล่าวมิใช่มูลค่าของฐานภาษีที่บริษัท ข ได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

....(5) ค่าปรับเนื่องจากการชำระหนี้ล่าข้า ไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการประกอบกิจการโดยปกติเยื่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ข จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับค่าปรับเนื่องจากชำระหนี้ล่าช้า แต่อย่างใด
2. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 กำหนดว่าลูกหนี้ถูกปรับได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น