วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่ได้จ่ายเช็คจากบริษัทฯ แต่ให้บริษัทแม่ออกเช็คแทนไปก่อนเนื่องจากยังกู้เงินจากธนาคารไม่ได้

Inbox: ศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 17:59 น.
คุณ ขวัญ ข้าว
เรียน อ. สุเทพ
เรื่อง ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่ได้จ่ายเช็คจากบริษัทฯ แต่ให้บริษัทแม่ออกเช็คแทนไปก่อนเนื่องจากยังกู้เงินจากธนาคารไม่ได้
บริษัท T ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และได้รับโอนสิทธิในสัมปทานการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระยะเวลากระทันหัน ประกอบกับบริษัท T ยังไม่ได้รับการอนุมัติวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน จึงทำให้บริษัท T มีเงินทุนหมุนเวียนในการชำระค่าจ้างงานไม่เพียงพอ และเพื่อให้โครงการสัมปทานกับภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องไม่ถูกปรับเพราะเหตุล่าช้า เมื่อการจ้างงานต่างๆ ถึงกำหนดชำระ และบริษัท T ไม่มีเงินในบัญชีเพียงพอ บริษัท T จึงต้องขอให้บริษัทแม่ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทช่วยออกเช็คชำระเงินให้ ผู้รับเหมา ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าอากร ในการนำเข้าสินค้าต่างๆ และต่อมาเมื่อบริษัท T สามารถเบิกเงินกู้ได้ จึงมีการจ่ายชำระหนี้ให้บริษัทแม่ทั้งหมดที่สำรองจ่ายให้
บริษัท T ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าวจาก ผู้รับเหมา กรมศุลกากร และได้นำภาษีซื้อไปขอคืนเป็นเงินสดเนื่องจากช่วงเวลานี้ยังไม่มีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าทำให้มีภาษีชำระเกินมูลค่าสูง
ต่อมาเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร แจ้งกับทางบริษัท T ว่า ใบกำกับภาษีซื้อนี้ไม่สามารถขอคืนได้เนื่องจาก ไม่ได้จ่ายเช็คค่าสินค้า ค่าภาษีต่างๆ ออกจากบริษัท T จึงไม่คืนภาษีให้ และได้อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5570/2548 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5672/2548 ซึ่งบริษัทฯเห็นว่าคำพิพากษาทั้ง 2 ฉบับนี้แตกต่างจากกรณีของบริษัท T อย่างสิ้นเชิง เพราะการจ่ายเงินของบริษัท T จ่ายตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และกรณีของการจ่ายเงินให้กรมศุลกากร ก็มีหลักฐานการจ่ายเช็คเป็นแคชเชียเช็คสั่งจ่ายกรมศุลกากรโดยบริษัทฯ ถึงแม้จะจ่ายเช็คจากบริษัทแม่ก็ตาม
จึงเรียนมาเพื่อปรึกษา อาจารย์ว่ากรณีที่บริษัท T ให้บริษัทแม่จ่ายเช็คให้ ผู้รับเหมา กรมศุลกากร แทนนั้นใบกำกับภาษีที่ผู้รับเหมา และกรมศุลกากรออกให้บริษัท T นั้นสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ และ รบกวนขอกฎหมายอ้างอิงด้วยนะคะเพื่อจะได้นำไปใช้อ้างอิงกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรต่อไป
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5570/2548
....“ผู้ขายสินค้าให้โจทก์คือ ย. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่ง มิใช่ห้างหุ้นส่วนทั้งสามซึ่งเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีพิพาท หากสินค้าที่ ย. นำมาส่งมอบให้โจทก์เป็นสินค้าที่ ย. ซื้อจากห้างทั้งสามนั้นจริง ใบกำกับภาษีที่ห้างดังกล่าว ออกให้ก็ต้องระบุชื่อ ย. เป็นผู้ซื้อมิใช่ระบุชื่อโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้เป็นผู้ซื้อสินค้าจากห้างดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่อาจนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยห้างดังกล่าวมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์
....การพิสูจน์ว่ามีการซื้อสินค้าและชำระราคาจริง และพิสูจน์ตัวผู้รับเงินนั้น ต้องเป็นการพิสูจน์ว่ามีการซื้อสินค้าและชำระราคาให้แก่ผู้ออกใบกำกับภาษีตามรายการที่ปรากฏในใบกำกับภาษีนั้นจริง มิใช่ซื้อสินค้าและชำระราคาแก่ผู้ประกอบการรายหนึ่ง แต่ผู้ออกใบกำกับภาษีเป็นผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง ใบกำกับภาษีพิพาทจึงเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นใบกำกับภาษีปลอม”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5672/2548
....“โจทก์ซื้อน้ำมันและชำระค่าน้ำมันแก่นางจรรยาแล้ว นางจรรยานำไปชำระแก่ผู้ขายอีกทอดหนึ่ง บางครั้งโจทก์ชำระราคาไม่ครบ นางจรรยาจะออกแทนในส่วนที่ยังขาดอยู่ไปก่อนแล้วโจทก์ชำระให้นางจรรยาตามหลังจนครบ นางจรรยาจึงเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระราคาค่าน้ำมันต่อผู้ขายหาใช่โจทก์ไม่ แสดงว่านางจรรยาซื้อน้ำมันจากผู้ออกใบกำกับภาษีแล้วนำมาขายให้แก่โจทก์ หาใช่โจทก์เป็นผู้ซื้อน้ำมันจากผู้ออกใบกำกับภาษีไม่ ดังนั้น ใบกำกับภาษีดังกล่าวจึงออกโดยผู้ที่มิได้ขายน้ำมันให้แก่โจทก์โดยตรง การที่ใบกำกับภาษีดังกล่าวระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าหรือผู้ซื้อจึงไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ถือได้ว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม จึงเป็นกรณีที่โจทก์นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ในการคำนวณภาษี”
พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่แจ้งไปนั้น เห็นว่า
1. บริษัท T ประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งองค์การของรัฐบาล มีสัญญาปรากฏโดยชัดแจ้ง และเป็นโครงการใหญ่ ที่มีกำหนดเวลาบังคับ ที่จะทำให้บริษัทฯ ไม่อาจกระทำการใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทางราชการ ประกอบกับสัญญามีกำหนดเวลายาวนาน ที่ทางราชการสามารถตรวจสอบได้ตลอดระยะเวลา ถึงคุณสมบัติของบริษัท T ซึ่งย่อมต้องได้รับการกลั่นกรองจากองค์การของรัฐบาลมาแล้วชั้นหนึ่งที่จะเป็นคู่สัญญากับทางราชการ รวมทั้งเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ที่ดำเนินธุรกิจมาโดยสุจริตเป็นที่ตั้ง
2. เหตุผลความจำเป็นทางการเงิน ตามที่ข้อเท็จจริงกล่าวอ้าง หากมีหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเป็นจริงตามนั้น ก็เป็นเครื่องยืนยันความสุจริต การกู้ยืมเงินจากบริษัทแม่ ถือเป็นเหตุการณ์ปกติทั่วไปในการดำเนินธุรกิจ โดยมีการบันทึกรายการทางบัญชีไว้ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป แสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินจากบริษัทแม่มาเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจจริง
3. หากบริษัท T เป็นผู้สำแดงใบขนสินค้าขาเข้าโดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หาใช่บริษัทแม่เป็นผู้ดำเนินการนำเข้า กรรมสิทธิ์ในสินค้าที่นำเข้าย่อมเป็นของบริษัทฯ ในอันที่จะมาใช้ในการดำเนินกิจการตามสัญญาสัมปทานกับองค์การของรัฐบาล อันเป็นภาครัฐ หาใช่ของบริษัทแม่ที่เป็นผู้จ่ายแคชเชียร์เช็ดแต่อย่างใด ถือได้ว่า กรมศุลกากรได้รับเงินค่าอากรขาเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยถูกต้อง และได้ออกหลักฐานใบเสร็จรับเงิน ซึ่งถือเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นสาระสำคัญ มากกว่าที่พิจารณาถึงวิธีการจ่ายค่าภาษีอากรดังกล่าว บริษัทฯ จึงย่อมมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินดังกล่าว ไปถือเป็นภาษีซื้อเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสีย ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร หาใช่ภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร และมิใช่ใบกำกับภาษีปลอมตามมาตรา 89 (7) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
4. เช่นเดียวกับข้อ 3 หากสัญญาที่กระทำกับผู้รับเหมา ได้กระทำในนามของบริษัท T การได้มาซื้อทรัพย์สินที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งาน ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ โดยได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ที่มีข้อความครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ย่อมมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักฐานใบกำกับภาษีดังกล่าว ไปถือเป็นภาษีซื้อเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสีย ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร หาใช่ภาษีซื้อต้องห้าม และมิใช่ใบกำกับภาษีปลอมตามมาตรา 89 (7) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
5. การปรับใช้คำพิพากษาฎีกาทั้งสองฉบับ จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยรอบด้าน หาใช่มองเพียงมุมเดียวคือการชำระราคา ที่ใช้แคชเชียร์เช็คของบริษัทแม่ ที่เป็นเพียงรูปแบบ มาเป็นประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ มากกว่าเนื้อหา การอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5570/2548 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5672/2548 ซึ่งบริษัทฯ เห็นว่าคำพิพากษาทั้ง 2 ฉบับนี้แตกต่างจากกรณีของบริษัท T อย่างสิ้นเชิง เพราะการจ่ายเงินของบริษัท T จ่ายตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และกรณีของการจ่ายเงินให้กรมศุลกากร ก็มีหลักฐานการจ่ายเช็คเป็นแคชเชียเช็คสั่งจ่ายกรมศุลกากรโดยบริษัทฯ ก็จักได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่ขัดต่อเจตนารมณ์แห่งประมวลรัษฎากร ที่มุ่งก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น