วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

กิจการขอคืนภาษีตรวจเสร็จเรียบร้อยเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งยอดคืนเงิน แต่สั่งให้ บริษัทฯ นี้ต้องปิดอากรแสตมป์พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม

Inbox: อาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562 เวลา 20:01 น.
คุณ Patcharanun Thienwuttiwong
เรียน อาจารย์สุเสพ
ขอเรียนปรึกษา เรื่อง ภาษีอากรแสตมป์
บริษัทฯ ประกอบกิจการโรงกลึงรับจ้างทำงานตั่งแต่ปี 2548 ในรอบปีภาษี 2559 กิจการขอคืนภาษีตรวจเสร็จเรียบร้อยเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งยอดคืนเงิน แต่สั่งให้ บริษัทฯ นี้ต้องปิดอากรแสตมป์พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม โดยเจ้าหน้าที่ยึดคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.153/2559 ซึ่งบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า การจ้างงานเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นแล้ว แต่บริษัทฯ ไม่ได้ ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ ทางเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่ามีใบสั่งซื้อ/ใบสั่งจ้าง PO ของทางลูกค้าและลูกค้าเซ็นต์ชื้อใน PO (บริษัทฯ ไม่ได้เซ็นต์ชื่อใน PO) และบริษัทฯ ออกเอกสาร ใบส่งของ/ใบแจ้งหนี้ ถือว่า เป็นเอกสารโต้ตอบกันก่อให้เกิดตราสราจ้างทำของ ดังนั้น ต้องปิดอากรแสตมป์ บริษัทฯ จึงทำหนังสือขอหารือส่งไปยังกรมสรรพากร และกรมส่งกลับมาสรรพากรภาค 5 มีใจความดังนี้ ...
เมื่อได้รับหนังสือข้อหารือ บริษัทฯ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า ในข้อหารือแจ้งว่า ใบสั่งจ้าง/ใบสั่งซื้อ ,ใบแจ้งหนี้เป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างกันและก่อให้เกิดตราสารจ้างทำของ. โดย บริษัทฯ มีเพียงใบสั่งจ้าง,ใบแจ้งหนี้ แต่ไม่มีตราสารจ้างทำของดังนั้น บริษัทฯ ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์.
และในขอหารือไม่ตอบคำถามที่ว่าให้ปิดอากรแสตมป์ที่ใด
เรื่องเกิดตั่งแต่เมย.61 ถึงขณะนี้ก็ยังไม่จบ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะออกใบประเมิณให้ไปจ่ายค่าอากร ถ้าไม่พอใจก็ให้ไปยื่นอุทธรณ์เองต่อไป
1. เรียนถามอาจารย์ว่า บริษัทฯ ต้องปิดอากรแสตมป์หรือไม่ค่ะ.
2. บริษัทฯ ควรยื่นอุทธรณ์ต่อไปหรือไม่ค่ะ
มีเอกสาร ใบ ต.6 ล่าสุดที่ได้ให้การไว้กับเจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้…
ขอขอบคุณพระคุณอาจารย์ สุเทพสำหรับคำตอบล่วงหน้าค่ะ
เพิ่มเติมค่ะ บริษัทฯ ได้อ้างถึงข้อหารือ เลขที่ กค 0706/9301 ลงวันที่ 9/11/2549 แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับฟังข้อหารือฉบับนี้
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 153/2559 เรื่อง การเสียอากรสำหรับตราสารการเช่าที่ดิน โรงเรื่องสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ และตราสารจ้างทำของ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียอากรแสตมป์ เฉพาะสำหรับตราสารสองลักษณะดังกล่าว คือ ตราสารการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามลักษณะตราสารที่ 1 และตราสารจ้างทำของตามลักษณะตราสารที่ 4 พร้อมทั้งยกตัวอย่างเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ชัดแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นตราสารซึ่งเกิดขึ้นโดยมีหนังสือโต้ตอบกัน ตามมาตรา 109 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
....“มาตรา 109 สัญญาใดเป็นตราสารซึ่งเกิดขึ้นโดยมีหนังสือโต้ตอบกันและมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าหนังสือฉบับหนึ่งฉบับใดที่จำเป็นในการทำให้เกิดสัญญานั้นขึ้นได้ปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าแสตมป์แล้วให้ถือว่าสัญญานั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว”
....ตามปกติหากคู่สัญญากระทำตราสารเป็นลายลักษณ์อักษรโดยชัดแจ้ง ก็ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นปัญหา เพราะมีการลงลายมือชื่อในตราสารทั้งสองฝ่าย รวมทั้งมีพยานลงนามรับรู้ถึงการ “กระทำ” ตราสารของคู่สัญญานั้นด้วย การมีหนังสือโต้ตอบกันจนเกิดเป็นตราสารนั้น เป็นผลมาจากหลักในการทำนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ
....สาระสำคัญของสัญญา
....1. ต้องมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป
....2. ต้องมีการแสดงเจตนาเป็นคำเสนอคำสนองตกลงตรงกัน ยินยอมกัน
....3. ต้องมีวัตถุประสงค์
....คำเสนอ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาตอบ ถ้าข้อความที่แสดงเจตนาออกมานั้นตรงกันกับคำเสนอ เรียกนิติกรรมฝ่ายหลังว่า คำสนอง เกิดเป็นสัญญาขึ้น มีลักษณะดังนี้
........คำเสนอเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวเกิดจากการแสดงเจตนาของผู้ทำคำเสนอต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับคำเสนอ
........คำเสนอจะต้องมีข้อความแน่นอนชัดเจนพอที่จะให้ถือเป็นข้อผูกพันก่อให้เกิดเป็นสัญญา
........คำทาบทาม ที่มีขึ้นเพื่อให้มีการเจรจาที่จะทำสัญญากันต่อไป และแตกต่างกับคำเชื้อเชิญ คำเชื้อเชิญจะมีลักษณะเป็นคำขอที่ให้อีกฝ่ายหนึ่งทำคำเสนอเข้ามา
........การแสดงเจตนาทำคำเสนอจะทำด้วยวาจาก็ได้ เป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยกริยาอาการอย่างใด ๆ ก็ได้
....คำสนอง คือ คำตอบของผู้รับคำเสนอต่อผู้เสนอโดยแสดงเจตนาว่าผู้รับคำเสนอนั้นตกลงเห็นชอบตามคำเสนอ “คำสนองต้องตรงกันกับคำเสนอ”
ที่มา: https://sites.google.com/…/kdh…/kdhmay-wa-dwy-nitikrrm-sayya
อนึ่ง คำว่า “กระทำ” นั้น ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า เมื่อใช้เกี่ยวกับตราสาร “กระทำ” หมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
....1. ตาม ข้อ 5 ตัวอย่างที่ (3) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 153/2559 มีรายละเอียดดังนี้ “บริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซ่อมเครื่องถ่ายเอกสาร โดยบริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง ออกใบเสนอราคา (Quotation) ให้บริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 แต่บริษัท ก จำกัด ไม่ได้ลงนามในใบเสนอราคาดังกล่าว ต่อมาบริษัท ก จำกัด ออกใบสั่งจ้าง (Purchase Order) แจ้งให้บริษัท ข จำกัด ทราบในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ใบสั่งจ้างตามใบเสนอราคาเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างกันและก่อให้เกิดตราสารจ้างทำของ บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 มีนาคม 2559”
........กรณีตามตัวอย่างเป็นเอกสารที่ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายแล้ว กล่าวคือ การลงลายมือชือในใบเสนอราคา (Quotation) ฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถือเป็น “คำเสนอ” กับ การลงลายมือชื่อในใบสั่งจ้าง (Purchase Order) ถือได้ว่า เป็นหนังสือโต้ตอบกัน ที่ถือเป็นตราสาร “สัญญาจ้างทำของ” ที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามลักษณะตราสารที่ 4 แห่งบัญชีอัตราอากรแสดมป์ ท่ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว เพราะมีการลงลายมือชื่อในหนังสือโต้ตอบกันจนก่อนให้เกิดเป็นตราสารจ้างทำของขึ้น ตัวอย่างนี้ ชอบแล้ว
....2. ตาม ข้อ 5 ตัวอย่างที่ (4) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 153/2559 มีรายละเอียดดังนี้ “บริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซ่อมหลังคาอาคารโรงงาน บริษัท ข จำกัด ได้ซ่อมหลังคาอาคารโรงงานตามที่ตกลงแล้วเสร็จในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ต่อมาบริษัท ก จำกัดออกใบสั่งจ้าง (Purchase Order) ให้แก่บริษัท ข จำกัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 และบริษัท ข จำกัด ออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) พร้อมแนบใบสั่งจ้างเรียกเก็บเงินจากบริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ใบแจ้งหนี้ตามใบสั่งจ้างเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างกันและก่อให้เกิดตราสารจ้างทำของ บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 เมษายน 2559 นั้น
........ตามตัวอย่างข้างต้น เมื่อบริษัท ก จำกัด ว่าจ้างบริษัท ข จำกัด ซ่อมหลังคาอาคารโรงงาน บริษัท ข จำกัด ได้ซ่อมหลังคาอาคารโรงงานตามที่ตกลงแล้วเสร็จในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 สัญญาจ้างซ่อมหลังคาอาคารโรงงานจบสิ้นไปแล้ว สัญญาดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นตราสารจ้างทำของที่ต้องปิดอากรแสตมป์
........ต่อมาบริษัท ก จำกัด ออกใบสั่งจ้าง (Purchase Order) ให้แก่บริษัท ข จำกัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 เมื่อได้รับใบสั่งจ้างของงานที่เสร็จไปแล้ว ถือว่าเป็น “คำเสนอ” ตามสัญญาจ้างที่ได้ทำงานแล้วเสร็จไปแล้ว เมื่อบริษัท ข จำกัด ออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) พร้อมแนบใบสั่งจ้างเรียกเก็บเงินจากบริษัท ก จำกัด ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ใบแจ้งหนี้ตามใบสั่งจ้างจะเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างกัน ที่ก่อให้เกิดตราสารจ้างทำของที่ต้องปิดอากรแสตมป์ บริษัท ข จำกัด ผู้รับจ้าง จึงจะมีหน้าที่ต้องเสียอากรในวันที่ 1 เมษายน 2559
....การออกเอกสารใบสั่งจ้าง P/O ซึ่งโดยปกติทางการค้ามักจะได้รับคำสั่งก่อนลงมือทำ ที่ตามตัวอย่างได้กระทำงานเสร็จก่อน จึงค่อยออก P/O เพื่อให้สามารถลงรายการในบัญชีตามโปรแกรมบัญชีได้
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการโรงกลึงรับจ้างทำงานตั่งแต่ปี 2548 ในรอบปีภาษี 2559 กิจการขอคืนภาษีตรวจเสร็จเรียบร้อยเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งยอดคืนเงิน แต่สั่งให้บริษัทฯ ต้องปิดอากรแสตมป์พร้อมเงินเพิ่ม โดยเจ้าหน้าที่ยึดคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.153/2559 ซึ่งบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า การจ้างงานเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นแล้ว แต่บริษัทฯ ไม่ได้ ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ ทางเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า มีใบสั่งซื้อ/ใบสั่งจ้าง PO ของทางลูกค้าและลูกค้าเซ็นชื่อใน PO (บริษัทฯ ไม่ได้เซ็นต์ชื่อใน PO) และบริษัทฯ ออกเอกสาร ใบส่งของ/ใบแจ้งหนี้ ถือว่า เป็นเอกสารโต้ตอบกันก่อให้เกิดตราสราจ้างทำของ นั้น
1. กรณีที่บริษัทฯ ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามตัวอย่างในคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 153/2559 นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ว่างจ้างได้ออกใบสั่งซื้อ/ใบสั่งจ้าง PO โดยมีลายมือชื่อของผู้ว่าจ้างใน PO ที่ได้กระทำภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้ทำงานให้ผู้ว่าจ้างแล้วเสร็จไปแล้ว โดยบริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) พร้อมแนบใบสั่งจ้างเรียกเก็บเงินกับผู้ว่าจ้าง เท่านั้น จึงขอให้พิจารณาประเด็นนี้ให้ชัดแจ้ง เพราะหากใบสั่งจ้างได้กระทำก่อนงานแล้วเสร็จ ก็หาใช้ประเด็นที่บริษัทฯ ต้องปิดอากรแสตมป์ แต่อย่างใด
2. บริษัทฯ ควรพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี และโต้แย้ง “พนักงานเจ้าหน้าที่” ไปก่อน ว่ามีกรณีที่ต้องปิดอากรแสตมป์ และไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ปนเปกันอยู่หรือไม่อย่างไร จากนั้น หากพนักงานเจ้าหน้าที่ยังแข็งขืนดึงดัน ที่จะออกคำสั่งให้เสีย (ไม่ใช่การประเมิน เพราะอากรแสตมป์ ไม่ใช่ภาษีอากรประเมิน) จึงค่อยยื่นอุทธรณ์ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น