วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

กฏหมายงดเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ถ้าบริษัทฯ ตอนนี้อยู่ในฐานะ เป็นผู้ถูกพิทักษ์ สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้ไหมค่ะ

Inbox: ศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 13:05 น.
คุณ Laila Laila
รบกวนขอสอบถามค่ะ ที่กฏหมายงดเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ถ้าบริษัทฯ ตอนนี้อยู่ในฐานะ เป็นผู้ถูกพิทักษ์ สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้ไหมค่ะ
ถ้าจดแจ้งแล้วต้องชำระเงินเลยไหมค่ะ สำหรับบริษัททั่วไป
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มไว้ดังนี้
....“มาตรา 5 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามมาตรา 4 ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
........(1) มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย ซึ่งมีกำหนดครบสิบสองเดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561 ไม่เกินห้าร้อยล้านบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
........(2) ได้มีการยื่นรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตาม (1) ไว้แล้วก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
........(3) ไม่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้ใช้ใบกำกับภาษีที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อพนักงาน สอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับใบกำกับภาษีตามประมวลกฎหมายอาญาไว้แล้วก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”
ดังจะเห็นได้ว่า กรณีบริษัทฯ อยู่ระหว่างพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายล้มละลาย ไม่เข้าลักษณะต้องห้างตามกฎหมายดังกล่าว จึงเห็นว่า บริษัทฯ สามารถขอจดแจ้งเพื่อใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวได้ แต่จะทำได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับกฎหมายล้มละลาย และข้อเท็จจริงอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับบริษัททั่วไป ถ้าจดแจ้งแล้วต้องชำระภาษีอากรภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 และต้องปฏิบัติตามมาตรา 7 แห่งกฎหมายดังกล่าว ดังต่อไปนี้
...."มาตรา 6 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามมาตรา 4 ต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
........(1) ลงทะเบียนต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
........(2) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรหรือยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงิน พร้อมทั้งชำระภาษีอากร ที่ยังไม่ได้ชำระ หรือยังชำระไม่ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ดังต่อไปนี้
.............(ก) ภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชีที่่มีวันเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2560
.............(ข) ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับประจำเดือนภาษีตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2559 จนถึงเดือนภาษีก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
.............(ค) อากรแสตมป์ สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทน การปิดแสตมป์อากร ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 จนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
........(3) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรทุกประเภทตามประมวลรัษฎากรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่หักหรือนำส่ง สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 จนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ พร้อมทั้งนำส่งภาษีอากรที่ยังไม่ได้นำส่ง หรือยังนำส่งไม่ครบถ้วน ทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562
....มาตรา 7 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามมาตรา 4 ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี และแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน สำหรับภาษีอากรทุกประเภท ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครบถ้วน สำหรับ การยื่นแบบตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เว้นแต่ มีเหตุอันสมควรตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้หมดสิทธิได้รับยกเว้นเบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มตามมาตรา 4 และให้กรมสรรพากรดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวข้องต่อไป"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น