วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562

ขายของออนไลน์อยู่ ได้จดนิติบุคคล และ VAT เรียบร้อยค่ะ ซึ่งช่องทางการส่งของ จะส่งทั้งขนส่งเคอรี่ และไปรษณีย์

Inbox: เสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 03:12 น. 
คุณ Namwan Kanyarat 
กราบเรียน ท่านอาจารย์ค่ะ
มีคำถาม ขอสอบถามอาจารย์ค่ะ 
คือ ตอนนี้ขายของออนไลน์อยู่ ได้จดนิติบุคคล และ VAT เรียบร้อยค่ะ ซึ่งช่องทางการส่งของ จะส่งทั้งขนส่งเคอรี่ และไปรษณีย์ค่ะ รบกวน ขอสอบถามสัก 2 ข้อนะคะ
1. ถ้าขายของ + ค่าขนส่ง (ลูกค้าจ่าย) ให้กับลูกค้า จะออกเอกสารอย่างไรดีคะ ต้องออกแยกใช่ไหมคะ เพราะที่ศึกษาข้อมูลทางเว็บไซต์ต่าง ๆ มา เขาบอกว่าค่าขนส่งแบบนี้ ไม่มี VAT แต่นักบัญชีบางท่านที่ปรึกษามาบอกให้ออกใบกำกับภาษีคิด VAT ค่าส่งรวมกับค่าสินค้าเลย?? แต่หนูคิดว่าไม่น่าจะใช่😂
- ถ้าออกเอกสารแบบนี้ ถูกต้องหรือไม่ค่ะ
>>>> ขายสินค้า 1,070 (ราคาของ 1,000 บาท + ภาษี VAT 70 บาท) แต่คิดคิดค่าขนส่ง Kerry/ไปรษณีย์ 100 บาท
= ยอดทั้งหมดที่ลูกค้าโอนให้คือ 1,170 บาท
จะออกเอกสารดังนี้ ถูกต้องไหมค่ะ
🇹🇭ฉบับที่ 1 = ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี
ค่าสินค้า 1,000
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 70
รวม 1,070 บาท
🇹🇭ฉบับที่ 2 = ใบเสร็จรับเงินค่าขนส่ง โดยลงรายการว่า "ค่าขนส่งสินค้า" โดยออกในนามลูกค้า = 100 บาท
จริง ๆ แล้ว ที่ถูกต้อง จะต้องออกเอกสารกี่ฉบับค่ะ ถ้าออกแบบดังกล่าวอยากจะถามว่าจะลงบันทึกค่าส่งสินค่าที่ถูกต้อง ต้องบันทึกแบบไหนค่ะ
🙏🙏ขอบคุณมากๆค่ะ🙏🙏


สุเทพ พงษ์พิทักษ์ 
วิสัชนา: 
กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าโดยเรียกเก็บค่าขนส่ง โดยมีการแยกรายการค่าขนส่งต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นรายการในใบกำกับภาษีฉบับเดียวกับราคาสินค้าหรือแยกต่างหากกันคนละฉบับก็ตาม มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้ 
....1. กรณีผู้ขายสินค้ามิได้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งเป็นปกติธุระ ให้ถือว่าค่าขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้า ที่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ซึ่งหากแยกกันคนละฉบับผู้ขายต้องออกใบเพิ่มหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร จะออกใบกำกับภาษีซ้ำอีกไม่ได้ เพราะปริมาณสินค้าได้แสดงครบถ้วนแล้ว แต่มูลค่าของฐานภาษีแสดงไว้ต่ำไปเท่ากับค่าขนส่ง
....2. กรณีผู้ขายสินค้าประกอบกิจการรับจ้างขนส่งเป็นปกติธุระอยู่แล้ว (พิจารณาจากใบอนุญาตประกอบการรับจ้างขนส่งสาธารณะ หรือพฤติกรรมการประกอบธุรกิจ) ค่าขนส่งที่แยกต่างหากจากราคาสินค้า ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผู้ซื้อสินค้าต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของค่าขนส่งนั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ขายสินค้าจะรับจ้างขนส่งโดยใช้ยานพาหนะของตนเองหรือไม่ก็ตาม
ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ขายของออนไลน์ ใช้ช่องทางการส่งของ ทั้งขนส่งเคอรี่ และไปรษณีย์ นั้น เป็นกรณีที่บริษัทฯ มิได้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งเป็นปกติธุระ ตามข้อ 1. ให้ถือว่าค่าขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้า ที่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
 ให้ออกเอกสารดังนี้ จึงจะถูกต้อง 
ฉบับที่ 1 = ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี 
ค่าสินค้า...........1,000 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม...... 70 บาท
รวม..................1,070 บาท 
ฉบับที่ 2 = ใบเสร็จรับเงิน/ใบเพิ่มหนี้ ค่าขนส่ง โดยลงรายการว่า "ค่าขนส่งสินค้า"
ค่าสินค้า............. 100 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม........ 7 บาท
รวม.................... 107 บาท 
 หรือจะออกเอกสารรวมกันดังนี้ 
ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี 
ค่าสินค้า............1,000 บาท
ค่าขนส่ง...............100 บาท
รวม...................1,100 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม.........77 บาท
รวม...................1,177 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น