วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายถึงข้อยกเว้นที่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีมีเรื่องอะไรบ้าง และธุรกิจประเภทไหน นิติบุคคลใดที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีการจัดทำบัญชี ตาม พ.ร.บ.การบัญชี ?

Inbox: ศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 01:16 น.
คุณ Irada Viengkaew
เรียน อาจารย์สุเทพ
ขอสอบถามเป็นความรู้ค่ะ
เรื่อง ข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี
พอดีว่าหนูไปอ่านใน พ.ร.บ. การบัญชี 2543 มาตรา 7 อธิบดีมีอำนาจประกาศ ข้อ (5) กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือผู้ทำบัญชี ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง
แต่มีข้อกำหนดตาม (5) และ (6) ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีด้วย อ่านแล้วเเต่ยังตีความหมายไม่ชัด
จึงอยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายถึงข้อยกเว้นที่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีมีเรื่องอะไรบ้าง และธุรกิจประเภทไหน นิติบุคคลใดที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีการจัดทำบัญชี ตาม พ.ร.บ.การบัญชี ?
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
คำถามในลักษณะเช่นนี้ เป็นคำถามทีอาจารย์ถามลูกศิษย์ เพื่อให้ค้นคว้าศึกษาด้วยตนเอง (Self-study) หากการถามผมถือเป็นการค้นคว้าศึกษาด้วยตนเอง (Self-study) ก็ได้นะ อย่าให้อาจารย์ท่านทราบว่า ถามผมนะจ้ะ เดี๋ยวท่านจะปรับผมสอบตกไปด้วย 5555
ตามมาตรา 7 (5) แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543
....“มาตรา 7 อธิบดีมีอำนาจประกาศ ในราชกิจจานุเบกษากำหนดในเรื่อง ดังต่อไปนี้
........(5) กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือผู้ทำบัญชี ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง
....เกี่ยวกับเรื่องนี้ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังมิได้กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือผู้ทำบัญชี ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง ตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 7 (3) และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 กำหนดให้สภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดและปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการจัดทำบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและกฎหมายอื่น ทั้งนี้ มาตรฐานการบัญชีนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงจะใช้บังคับได้ ดังนี้
....“มาตรา 7 สภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
........(3) กำหนดมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชี และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี
....มาตรา 34 มาตรา ๓๔ ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีมีอำนาจหน้าที่กำหนดและปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี........มาตรฐานการบัญชีต้องจัดทำขึ้นเป็นภาษาไทย
........มาตรฐานการบัญชีที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีกำหนดและปรับปรุงเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
........เมื่อได้รับแจ้งจากผู้ทำบัญชี ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ผู้ใช้ข้อมูลทางการเงิน กรมการประกันภัย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือหน่วยงานอื่นใด ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดไว้ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็นอุปสรรคต่อการ ประกอบกิจการ คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีต้องดำเนินการตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และกำหนด ปรับปรุง หรือพัฒนามาตรฐานการบัญชีโดยพลัน”
-------------------------------------------------------------------------------
....อาศัยความตามมาตรา 7 (3) และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ที่กำหนดให้สภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดและปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการจัดทำบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและกฎหมายอื่น ทั้งนี้ มาตรฐานการบัญชีนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงจะใช้บังคับได้
....เพื่อให้การจัดทำบัญชีและงบการเงินของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีมีการปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีจึงมีมติว่า ให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจัดทำบัญชีและงบการเงิน โดยมีแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้
....1. การจัดทำบัญชีและงบการเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและกฎหมายอื่นหรือในกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้หรือกำหนดไว้ไม่ชัดเจน ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและแนวปฏิบัติทางการบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด
....2. ในกรณีที่การจัดทำบัญชีและงบการเงินของบริษัทมหาชนจำกัดในเรื่องใดที่ไม่มีมาตรฐานการบัญชีและแนวปฏิบัติทางการบัญชีครอบคลุมถึง ก็อาจที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีและแนวทางปฏิบัติอื่นที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ หรือมาตรฐานการบัญชี และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องของประเทศสหรัฐอเมริกา
........ทั้งนี้ ต้องระบุด้วยว่า รายการนโยบายการบัญชีที่ใช้ปฏิบัติสำหรับการบันทึกบัญชีรายการนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีใด
....3. ในกรณีที่การจัดทำบัญชีและงบการเงินในเรื่องใดไม่สามารถระบุมาตรฐานการบัญชีที่ใช้ปฏิบัติตามข้อ 1 หรือข้อ 2 ข้างต้น แล้วแต่กรณีได้ ให้ใช้หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือประเพณีนิยมเป็นหลักปฏิบัติ
....สภาวิชาชีพบัญชีจึงเห็นสมควรเผยแพร่และประกาศใช้แนวทางการจัดทำบัญชีและงบการเงินดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป โดยออกประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ฉบับที่ 8/2549 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีและงบการเงิน ของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีและผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2549
คุณ Thanyporn Atikunvarin ได้เพิ่มเติมความเห็นที่เป็นประโยชน์ดังนี้
ที่อาจารย์ตอบถูกต้องทุกประการค่ะ รวมทั้งในขณะที่ออก พ.ร.บ. การบัญชี 2543 เรายังกำหนดให้ทุกกิจการไม่ว่าใหญ่เล็กต้องทำตามมาตรฐานการบัญชีเหมือนกันหมด แต่ตอนนั้นเราเว้น 7 ฉบับสำหรับกิจการขนาดเล็ก เลยเป็นที่มาของการยกเว้นมาตรฐานบางฉบับหรือบางย่อหน้าค่ะ เราเพิ่งจะมาแยกมาตรฐานเมื่อปี 2554 ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น