วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

เงินทุกบัญชีรวมกัน หมายความรวมถึงทุกธนาคารรวมกันด้วยหรือไม่คะ หรือว่าทุกบัญชีรวมกันต่อ 1 ธนาคาร

Inbox: อาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562 เวลา 20:16 น.
คุณ Ple Wichaisakul
อาจารย์คะ รบกวนสอบถามค่ะ
เกี่ยวกับกฏหมายธุรกรรมพิเศษ มีเงื่อนไข คือ
1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สามพันครั้งขึ้นไป
2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป
คำถาม เงินทุกบัญชีรวมกัน หมายความรวมถึงทุกธนาคารรวมกันด้วยหรือไม่คะ หรือว่าทุกบัญชีรวมกันต่อ 1 ธนาคาร
ขอบคุณค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามมาตรา 3 สัตตรส แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะต่อกรมสรรพากรดังนี้
....“มาตรา 3 สัตตรส เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะในปีที่ล่วงมาเฉพาะที่อยู่ในความครอบครองต่อกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
........(1) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
........(2) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
........(3) ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน
........ธุรกรรมลักษณะเฉพาะตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ธุรกรรมที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดในปีที่ล่วงมา ดังต่อไปนี้
........(1) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สามพันครั้งขึ้นไป
........(2) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สี่ร้อยครั้งและมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือ
รับโอนเงินรวมกันตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป
........รายการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ต้องรายงานตามวรรคหนึ่ง และวิธีการ รายงาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
........จำนวนครั้งหรือยอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินตามวรรคสอง ให้กำหนดเพิ่มขึ้นได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้อธิบดีมีหน้าที่ในการเก็บรักษาข้อมูลที่ได้รับตามมาตรานี้และให้เก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่กรมสรรพากรได้รับข้อมูล”
จากบทบัญญัติดังกล่าว อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
....1. เจตนารมณ์ในการบัญญัติบทบัญญัติมาตรา 3 สัตตรส แห่งประมวลรัษฎากร ปรากฏตามหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ดังนี้
........“เนื่องจากในปัจจุบันลักษณะในการทำธุรกรรมของภาคเอกชนได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้การตรวจสอบและติดตามข้อมูลเพื่อการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรในปัจจุบันไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดังนั้น “เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร” จึงกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร
....2. ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ได้แก่
........(1) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
.............ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ได้กำหนดนิยามศัพท์เกี่ยวกับ สถาบันการเงินไว้ดังนี้
.............“สถาบันการเงิน” หมายความว่า (1) ธนาคารพาณิชย์ (2) บริษัทเงินทุน และ (3) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
.............“ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า บริษัทมหาชนจํากัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์และให้หมายความรวมถึงธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์
.............“ธุรกิจธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกําหนดไว้และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เช่น ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด ซื้อขายเงิน
ปริวรรตต่างประเทศ
.............“บริษัทเงินทุน” บริษัทมหาชนจํากัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน
.............“ธุรกิจเงินทุน” หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกําหนดไว้ซึ่งมิใช่การรับฝากเงินหรือรับเงินไว้ในบัญชีที่จะเบิกถอนโดยใช้เช็ค และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เช่น ให้สินเชื่อซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด
.............“บริษัทเครดิตฟองซิเอร์” หมายความว่า บริษัทมหาชนจํากัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร
.............“ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์” หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่จะจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกําหนดไว้และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
.............(ก) การให้กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจํานองอสังหาริมทรัพย์
.............(ข) การรับซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยวิธีขายฝาก
........(2) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) หมายถึง สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐในการพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจ และสนับสนุนการลงทุนต่าง ๆ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังซึ่งได้มอบหมายให้ ธปท. ทำหน้าที่ตรวจสอบผลการดำเนินงานและความเสี่ยง และรายงานผลการตรวจสอบไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
.............สถาบันการเงินเฉพาะกิจ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
.............(ก) สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่เป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินทั้งด้านเงินฝากและให้สินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันมี 4 แห่ง คือ
..................1) ธนาคารออมสิน (Government Savings Bank)
..................2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (Bank for Agriculture and Agricultural Co-operatives)
..................3) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (Government Housing Bank)
..................4) ธนาคารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (Islamic Bank of Thailand)
.............(ข) สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ทำทำธุรกิจตามขอบเขตที่กำหนด เช่น ให้สินเชื่อหรือรับประกันสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่รับเงินฝากจากประชาชนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมี 4 แห่ง คือ
..................1) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Export-Import Bank of Thailand)
.................2) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (Small and Medium Enterprise Development Bank of Thailand)
..................3) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (Thai Credit Guarantee Corporation)
..................4) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Secondary Mortgage Corporation)
........(3) ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน
.............“การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า การโอนสิทธิครองเงิน หรือการโอนสิทธิการถอนเงิน หรือหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ใช้บริการที่เปิดไว้กับผู้ให้บริการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการใช้ระบบต่าง ๆ ในการฝาก,ถอน,โอน หรือหักเงิน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ – อ้างอิงจาก พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยกาารควบคุมดูแลธุรกิจการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551
.............การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ต้องจดทะเบียนกับธปท. การให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) นั้นต้องมีการขึ้นทะเบียนกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยธุรกิจ e-Payment ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท. ประกอบด้วยบริการ 8 ประเภท ดังนี้
..............1) บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)
..................e-Money หรือ เงินอิเล็กทรอนิกส์ คือ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ให้บริการออกให้แก่ผู้ใช้บริการ เพื่อใช้ชำระค่าสินค้า หรือทำธุรกรรมอื่น ๆ แทนเงินสด ตามมูลค่าของเงินที่ผู้ใช้บริการฝากไว้กับผู้ให้บริการ หรือที่เราอาจจะคุ้นกันในศัพท์ที่ว่า “e-Wallet” นั่นเอง
..............2) บริการเครือข่ายบัตรเครดิต
..................เครือข่ายบัตรเครดิต คือ เครือข่ายการให้บริการรับส่งข้อมูลการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิสก์ส่งต่อไปยังผู้ให้บริการบัตรเครดิตต่าง ๆ
..............3) บริการเครือข่ายอีดีซี (EDC Network)
..................เครือข่ายอีดีซี (EDC Network) คือ จุดเชื่อมต่อ หรือเครือข่ายของการให้บริการอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับการรับส่งข้อมูลการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากบัตรเครดิต บัตรเดบิต เงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
..............4) บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงิน (Transaction Switching) คือ บริการเป็นศูนย์กลาง หรือจุดเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลรายการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ให้บริการตามที่ตกลงกัน
..............5) บริการหักบัญชี (Clearing) คือ บริการรับส่ง ตรวจสอบ และยืนยันข้อมูลตามคำสั่งการชำระเงิน รวมถึงการจัดการต่าง ๆ ให้กระบวนการชำระดุลระหว่างเจ้าหนี้ และลูกหนนี้สำเร็จลุล่วง
..............6) บริการชำระดุล (Settlement) คือ บริการระบบการชําระเงินที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ให้บริการหักเงินฝากของผู้ใช้บริการไปใช้ในการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้
..............7) บริการรับชำระเงินแทน คือ บริการรับชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แทนเจ้าหนี้
..............8) การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด หรือผ่านทางเครือข่าย การบริการประเภทนี้จะเป็นการรับชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะไม่มีการเก็บเงินไว้
....3. ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ หมายความว่า ธุรกรรมที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดในปีที่ล่วงมา ดังต่อไปนี้
........(1) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป
........(2) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป
........รายการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ต้องรายงานดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
........จำนวนครั้งหรือยอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงิน ให้กำหนดเพิ่มขึ้นได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีหน้าที่ในการเก็บรักษาข้อมูลที่ได้รับตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษากรนี้ และให้เก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่กรมสรรพากรได้รับข้อมูล
....4. วิธีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ต้องรายงาน
........วิธีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ต้องรายงาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
....รายการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน นั้น ในส่วนตัวเห็นว่า เป็นความหมายอย่างแคบ คือ เป็นรายการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีของผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ เพียงรายใดรายหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากผู้มีหน้าที่รายงานแต่ละรายไม่อาจทราบถึงข้อมูลรายการฝากหรือรับโอนเงินของผู้มีหน้าที่รายงานรายอื่นๆ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องรอความชัดเจนตามกฎหมายลูก คือ กฎกระทรวงออกตามความในประมวลรัษฎากร ที่จะได้ออกเพิ่มเติมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น