วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง มีหุ้นส่วน 2 ท่าน ยื่นงบเปล่ามาหลายปีแล้ว ต่อมาหุ้นส่วนผู้จัดการได้เสียชีวิตลง และไม่มีใครเข้ามาเป็นหุ้นส่วนต่อ ทางกฏหมายถือห้างฯ ได้ปิดกิจการแล้วใช่หรือไม่ และไม่ต้องยื่นงบต่อกรมฯ แล้ว

Inbox: เสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 22:06 น.
คุณ Monster Blue
สวัสดีค่ะ รบกวนอาจารย์สุเทพด้วยนะคะ
ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง มีหุ้นส่วน 2 ท่าน ยื่นงบเปล่ามาหลายปีแล้ว ต่อมาหุ้นส่วนผู้จัดการได้เสียชีวิตลง และไม่มีใครเข้ามาเป็นหุ้นส่วนต่อ
ทางกฏหมายถือห้างฯ ได้ปิดกิจการแล้วใช่หรือไม่ และไม่ต้องยื่นงบต่อกรมฯ แล้ว
ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
การเลิกห้างหุ้นส่วน
1. การที่จะถือว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกิจการหรือไม่ ต้องพิจารณาเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีดังต่อไปนี้
....1.1 การเลิกกันโดยผลของสัญญา
........(1) สัญญากำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น ตามมาตรา 1055 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
........(2) สัญญาทำไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น ตามมาตรา 1055 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
........(3) สัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียวเมื่อเสร็จการ นั้น ตามมาตรา 1055 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
....1.2 การเลิกกันโดยบทบัญญัติของกฎหมาย
........(1) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งบอกเลิกในกรณีของห้างหุ้นส่วนไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 1055 (4) และมาตรา 1056 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
........(2) ผู้เป็นหุ้นส่วนตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ ตามมาตรา 1055 (5) แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
....1.3 การเลิกกันโดยคำสั่งศาล
........(1) กรณีมีการล่วงละเมิดบทบังคับใดๆ อันเป็นสาระสำคัญ ตามมาตรา1057 (1) แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
........(2) กรณีห้างหุ้นส่วนมีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้อีกตามมาตรา 1057 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์
........(3) กรณีมีเหตุอื่นที่ทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปตามมาตรา 1057 (3) แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
........(4) กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของ ห้างหุ้นส่วนเป็นเหตุให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นใช้สิทธิ เรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วน ตามมาตรา 1067 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ทีมา: หนังสืตอบข้อหารือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0702/6195 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
2. เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้ว (มาตรา 1061 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
....2.1 ก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย
....2.2 ถ้าการเลิกห้างหุ้นส่วนนั้นได้เป็นไปโดยที่เจ้าหนี้เฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ให้คำบอกกล่าวก็ดี หรือโดยที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล้มละลายก็ดี ท่านว่าจะงดการชำระบัญชีเสียได้ต่อเมื่อเจ้าหนี้คนนั้น หรือเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ยินยอมด้วย
....2.3 การชำระบัญชีนั้น ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ
....2.4 การแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ให้วินิจฉัยชี้ขาดโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วน
3. การชำระบัญชี ให้ทำโดยลำดับดังนี้ คือ (มาตรา 1062 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
....3.1 ให้ชำระหนี้ทั้งหลายซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอก
....3.2 ให้ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไปเพื่อจัดการค้าของห้าง
....3.3 ให้คืนทุนทรัพย์ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนได้ลงเป็นหุ้น
....3.4 ถ้ายังมีทรัพย์เหลืออยู่อีกเท่าไร ก็ให้เฉลี่ยแจกเป็นกำไรในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน
4. ถ้าเมื่อได้ชำระหนี้ซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอกและชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายแล้ว สินทรัพย์ที่ยังอยู่ไม่พอจะคืนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนให้ครบจำนวนที่ลงหุ้นไซร้ส่วนที่ขาดนี้คือขาดทุน ซึ่งต้องคิดเฉลี่ยช่วยกันขาด (มาตรา 1063 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
ในทางภาษีอากร
.... มาตรา 72 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก ถ้าบุคคลดังกล่าวแล้วไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานประเมินอาจสั่งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย เงินนี้ให้ถือเป็นค่าภาษี
........ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกันดังกล่าวแล้ว เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษี ให้ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบ และภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 68 และมาตรา 69 โดยอนุโลม
........ถ้าผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการไม่สามารถยื่นรายการ และเสียภาษีภายในกำหนดเวลาตามความในวรรคก่อนได้ และได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก เมื่ออธิบดีพิจารณาเห็นสมควรจะสั่งให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกก็ได้ เฉพาะกรณีที่มีการชำระบัญชี อธิบดีจะสั่งให้ขยายรอบระยะเวลาบัญชีออกไปอีกด้วยก็ได้
........ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกันโดยไม่มีการชำระบัญชี ให้ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ชำระบัญชี ร่วมกับผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งมีอำนาจจัดการตามที่บัญญัติไว้ในสามวรรคก่อน
ดังนั้น กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด มีหุ้นส่วน 2 ท่าน ยื่นงบเปล่ามาหลายปีแล้ว ต่อมาหุ้นส่วนผู้จัดการได้เสียชีวิตลง และไม่มีใครเข้ามาเป็นหุ้นส่วนต่อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055 (4) และมาตรา 1056 ถือห้างฯ เลิกกิจการ ณ วันที่ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการถึงแก่ความตาย ผู้เป็นหุ้นส่วนที่เหลืออยู่ต้องเข้ามาเป็นผู้ชำระบัญชี และดำเนินการตามมาตรา 72 และมาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร รวมทั้งตามมาตรา 1061 และมาตรา 1062 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น