วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

บิลที่ได้รับมาจากทางร้านเป็นบิลเงินสดระบุที่อยู่ร้านและชื่อร้าน แต่ทางมหาวิทยาลัยบอกว่า บิลไม่ผ่าน โดยให้ไปขอให้ทางร้านที่ไปซื้อเขียนเลขบัตรประจำตัวประชาชนลงในบิลเงินสด

Inbox: ศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 22:29 น.
คุณ Rattana Saosurin
สวัสดีค่ะ
พอดีทำโครงการแล้วต้องซื้อของโดยใช้งบจากทางมหาวิทยาลัย ซึ่งบิลที่ได้รับมาจากทางร้านเป็นบิลเงินสดระบุที่อยู่ร้านและชื่อร้าน แต่ทางมหาวิทยาลัยบอกว่า บิลไม่ผ่าน โดยให้ไปขอให้ทางร้านที่ไปซื้อเขียนเลขบัตรประจำตัวประชาชนลงในบิลเงินสด ในกรณีนี้ อยากทราบว่าการให้เขียนเลขบัตรประจำตัวประชาชนลงในบิลเงินสดนี้จำเป็นไหมคะ ไม่เข้าใจว่า ทำไมจะต้องเขียน แล้วถ้าเขียนเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีแทนจะได้ไหมคะ แล้วร้านค้าปกติ(ร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี่)เขาจะมีเลขปนะจำตัวผู้เสียภาษีไหมคะ เพราะส่วนมากเขาจะไม่ให้เลขบัตรประชาชนค่ะ กังวลมากๆ ว่า บิลจะไม่ผ่านค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามมาตรา 105 และมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
....“มาตรา 105 ในกรณีต่อไปนี้ ผู้ขาย ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้รับเงิน หรือผู้รับชำระราคาต้องออกใบรับให้แก่ผู้ซื้อ ผู้เช่าซื้อ ผู้จ่ายเงินหรือผู้ชำระราคา ในทันทีทุกคราวที่รับเงินหรือรับชำระราคาไม่ว่าจะมีการเรียกร้องให้ออกใบรับหรือไม่ก็ตาม
........(1) การรับเงินหรือรับชำระราคาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 และการรับเงินหรือรับชำระราคาจากการกระทำกิจการของผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งพันบาทไม่ได้
........(2) การรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีอื่นซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้
........ถ้าการรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีเดียวกันมีจำนวนเกินกว่าที่อธิบดีกำหนด ตาม (1) หรือ (2) แต่มีเงื่อนไขให้รับเงินหรือรับชำระราคาในภายหลังเป็นหลายงวด ให้ออกใบรับทุกคราวในทันทีที่รับเงินหรือรับชำระราคานั้น
........ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความแสดงว่าได้รับเงินหรือรับชำระราคาแล้ว จะถือเอาใบกำกับภาษีนั้นเป็นใบรับที่ต้องออกตามมาตรานี้ก็ได้
มาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การจำหน่ายแสตมป์อากร หรือแสตมป์อื่นของรัฐบาลที่ยังมิได้ใช้
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 34) ประกอบ)
....มาตรา 105 ทวิ ในการออกใบรับ ให้ผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 (1) หรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 (2) เฉพาะผู้ซึ่งกระทำเป็นปกติธุระ ทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับ และเก็บต้นขั้วหรือสำเนาใบรับดังกล่าวไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ออกใบรับ
........ถ้าปรากฏว่าการรับเงินหรือรับชำระราคาที่ต้องทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่ง ไม่มีต้นขั้วหรือสำเนาใบรับ ให้สันนิษฐานว่าไม่ได้ออกใบรับ
........ใบรับและต้นขั้ว หรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีตัวเลขไทยหรืออารบิค และอักษรไทยให้ปรากฏข้อความต่อไปนี้
........(1) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
........(2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
........(3) เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
........(4) วันเดือนปีที่ออกใบรับ
........(5) จำนวนเงินที่รับ
........(6) ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า ในกรณีการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้า เฉพาะชนิดที่มีราคาตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทขึ้นไป
........ในกรณีผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้ขายส่ง ขายสินค้าให้แก่ผู้ซึ่งทำการค้าสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าที่ขายนั้น ให้แสดงชื่อหรือยี่ห้อและที่อยู่ของผู้ซื้อไว้ในใบรับที่ต้องออกตามวรรคหนึ่งด้วยทุกคราวที่ได้รับชำระเงินหรือรับชำระราคา ข้อความในใบรับเช่นว่านี้ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับ
........ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กิจการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
(ดู กฎกระทรวง ฉบับที่ 141 (พ.ศ. 2521) ประกอบ)
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23) ประกอบ)
....ในปัจจุบันนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 3) ได้กำหนดว่า “กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีและใช้เลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนนั้นในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด”
ดังนั้น เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรสำหรับคนไทยทั่วไป ได้แก่ เลฃประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร นั่นเอง และควรศึกษาบทบัญญัติมาตรา 105 และมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อนำไปชี้แจงผู้ออกใบเสร็จรับเงิน หรือบิลเงินสดให้เข้าใจต่อไปด้วยครับ

สอบถาม เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในเวลานี้ ดังนี้ครับ

์Inbox: 9 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 16:40 น.
อาจารย์ Phalachai Fookaittiphong
เรียน อาจารย์สุเทพที่เคารพ
ผมขอสอบถาม เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในเวลานี้ ดังนี้ครับ
*กรณี นาย ก ผ่อนบ้านอยู่กับธนาคาร*
- จะถือว่าใครเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี (มาตรา 9) ครับ ธนาคาร หรือ นาย ก.
- ถ้า นาย ก. เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี และมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้าน จะได้รับการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี ไม่เกิน 10 ล้าน ตามมาตรา 41 หรือไม่ครับ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรณีนาย ก. ซื้อบ้านจัดสรรจากบริษัทเจ้าของโครงการ แต่เงินทุนไม่เพียงพอจึงกู้ยืมเงินจากธนาคาร โดยจดจำนองบ้านไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารดังกล่าว เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ของบ้านนั้น เป็นของ นาย ก. หากจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัํญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 นาย ก. จึงต้องมีภาระที่ต้องเสียภาษีดังกล่าว
...."มาตรา 9 ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของหรือครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอยู่ในวันที่ 1 มกราคมของปีใด เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีส าหรับปีนั้น ตามที่ก าหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้"
ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัํญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนดยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลธรรมดาดังนี้
...."มาตรา 41 ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการค านวณภาษีไม่เกินห้าสิบล้านบาท
........ในกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และใช้สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการค านวณภาษีไม่เกินสิบล้านบาท
........ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศก าหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อคำนวณการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
........มิให้นำความในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองมาใช้บังคับกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ซึ่งต้องย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านดังกล่าว เพราะเหตุจำเป็นทางราชการตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันประกาศกำหนด โดยให้ถือเอาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งปลูกสร้างก่อนการย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการค านวณภาษีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง"
ดังนั้น กรณีนาย ก. เป็นเจ้าของบ้าน และเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ตามมาตรา 41 วรรคแรก แห่งพระราชบัํญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
ขอแนะนำ สรุปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
https://www.itax.in.th/…/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%…

เงิน 1 ล้านบาทที่บริษัทต่างประเทศโอนคืนค่าสำรองจ่ายค่าน้ำมันต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าต่างประเทศไหมคะ..และบางครั้งจะฝากดูแลค่ารักษาพยาบาลลูกเรือด้วยค่ะ ไม่ทราบจะต้องออกใบกำกับหรือบันทึกเป็นเงินสำรองจ่ายลูกค้าต่างประเทศค่ะ

Inbox: ศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 20:51 น.
คุณ บุญเหลือ วรรณเมธี
กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพ
ดิฉันมีเรื่องจะเรียนถามอาจารย์ คะ (ค่ะ - ต้องการไม้เอกด้วย)
ทำธุรกิจรับจ้างขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือ มีบางรายการที่เจ้าของเรือต่างประเทศโอนเงินมาให้เพื่อฝากให้ลูกเรือที่อยู่ประเทศไทย และฝากเติมน้ำมันเรือ 1 ล้านบาท โดย 1 ล้านบาททางบริษัทฯ ได้ออกใบเสร็จพร้อมใบกำกับภาษีเป็นชื่อบริษัทในประเทศไทยค่ะ อยากสอบถามว่าเงิน 1 ล้านบาทที่บริษัทต่างประเทศโอนคืนค่าสำรองจ่ายค่าน้ำมันต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าต่างประเทศไหมคะ..และบางครั้งจะฝากดูแลค่ารักษาพยาบาลลูกเรือด้วยค่ะ ไม่ทราบจะต้องออกใบกำกับหรือบันทึกเป็นเงินสำรองจ่ายลูกค้าต่างประเทศค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรณีรับเงินทดรองจ่ายจากเจ้าของเรือต่างประเทศ นั้น
1. หากไม่ประสงค์จะให้เจ้าของเรือต่างประเทศรู้ต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของบริษัทฯ ว่าเป็นจำนวนเท่าใด จึงได้ออกใบกำกับภาษีรวมทั้งก้อน ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกินจำเป็นอยู่บ้าน แต่ก็เป็นไฟท์บังคับให้ต้องดำเนินการเช่นนั้น
....บริษัทฯ อาจมีกำไรมาก ก็เกรงเจ้าของเรีอต่างประเทศจะว่าเอา หรือ
....หากบริษัทฯ ขาดทุนก็ต้องเจอกับเจ้าพนักงานสรรพากรได้
....เรียกว่า โดนทั้งขึ้น ทั้งล่อง เนื่องเพราะความไม่โปร่งใส
2. กรณีที่มีความชัดเจนว่า จ่ายเงินทดรองจ่ายแทนเจ้าของเรือเป็นจำนวนเท่าใด มีค่าบริการระหว่างกันเท่าใด (อาจกำหนดค่าบริหารจัดการเป็น % ของค่าใช้จ่าย) เช่นนี้ ในส่วนของเงินทดรองจ่ายที่รับมา บริษัทฯ ก็ไม่ต้องออกใบกำกับภาษี เพียงแต่ให้เอกสารหลักฐานการจ่ายเงิน เพื่อทำ Reimbursement ให้แก่เจ้าของเรีอต่างประเทศ
....บริษัทฯ มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีเฉพาะค่าบริการเท่านั้น
....กรณีเช่นนี้ ก็จะช่วยให้เกิดความโปร่งใส และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ควรจะเป็น ครับ

การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อค่ะ ถ้าเราออกด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมบัญชีเราต้องขออนุญาตจากกรมสรรพกรมั้ยค่ะ

Inbox: 6 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 19:23 น.
คุณ Warawan Loessungnoen
อาจารย์ค่ะ (คะ- ไม้ต้องมีไม้เอก) ขอสอบถามการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อค่ะ ถ้าเราออกด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมบัญชีเราต้องขออนุญาตจากกรมสรรพกรมั้ยค่ะ (คะ- ไม่ต้องมีไม้เอก)
ขอบคุณค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
การจัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
ในส่วนของใบกำกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ และต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร คือ ใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Cash Register) ที่ต่อเชือมเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้นครับ

ใบที่จ่ายภาษีไม่ตรงกับเลขที่ยัตรประชาชนเรา..เราควรทำไงดีค่ะ

Inbox: อาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562 เวลา 11:27 น.
คุณ สุกัญญา หลวงสนาม
อ. ค่ะ (คะ- ไม่ต้องมีไม้เอก) พอดีเราเปิดร้านค้าค่ะ...มีเพื่อนยืมร้านค้าเราเพื่อไปทำงาน.
เราก็เชนเอกสารให้ทุกอย่างค่ะ..ออกใบเสร็จทุกอย่างพอจะจ่ายภาษีหมู่บ้านบอกว่าจะจ่ายเอง..แต่พอเราจะเอาเอกสารมายื่น..ใบที่จ่ายภาษีไม่ตรงกับเลขที่ยัตรประชาชนเรา..เราควรทำไงดีค่ะ
แต่สรรพากรก็มีข้อมูลว่าหักเงินจากเราโครงการนี้..ช่วยบอกทีค่ะ
แก้ไขได้ยังไงค่ะอาจารย์เวลาเรายื่นภาษีค่ะ
ผญ.บ้านบางคนลักไก่ค่ะยืมเอกสารเราไปยื่นประกบ...แต่บอกเราว่าไม่ได้เอาไปทำงาน..แต่ไปตรวจสอบสรรพากรเราเป็นคนทำงาน..หนูก็ไปถามหาใบหัก ณ ที่จ่าย..พอถามก็เอาให้ค่ะ..แต่เป็นชื่อตัวเอง...แบบนี้ก็มีค่ะ หนูไปตรวจสิบมามี 2 โครงการค่ะ..200,000+200,000 บาท ค่ะหนูควรทำไงดีค่ะอาจารย์
คนแบยนี้ก็มีค่ะ...หนูกำลังเจอค่ะ..อาจารย์ช่วยหาทางออกให้แฟนหนูที..ส่วนมากก็จะเป็นงานปกครองค่ะ..งานที่ ผญ.บ้านทำเองแต่เอกสารไม่ค่อยคล่องค่ะ..เราก็ พึ่งรู้ ด้วย ค่ะ..
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
โบราณว่า คบคนพาล พานพาไปหาผิด ครับ ไม่พึงให้คนอื่นยืมชื่อร้านค้าไปทำงานในชื่อของเรา มักจะมีปัญหาตามมา เห็นมาเยอะแล้ว แบบนี้น่ะครับ แล้วในที่สุดความเดือดร้อนก็ตกที่เรา เพราะตามกฎหมายสรรพากรมีข้อกฎหมายแบบนี้ด้วย คือ
....“มาตรา 61 บุคคลใดมีชื่อในหนังสือสำคัญใด ๆ แสดงว่า
........(1) เป็นเจ้าของทรัพย์สินอันระบุไว้ในหนังสือสำคัญ และทรัพย์สินนั้นก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน หรือ
........(2) เป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินโดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น
........เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากผู้มีชื่อใน หนังสือสำคัญนั้นก็ได้ แต่ถ้าบุคคลนั้นต้องโอนเงินได้พึงประเมินให้แก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นมีสิทธิหักเงินภาษีจากจำนวนเงินซึ่งต้องโอนให้แก่บุคคลอื่นตามส่วน”
แต่เมื่อตกกระได ก็ต้องพลอยโจนลงไป แล้วครับ หาหลักฐานมาสนับสนุนว่า มีรายได้จากกิจกรรมใดเป็นจำนวนเท่าใด โดยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่สามารถกระทำได้ แล้วจัดการเสียภาษีเงินได้ไปให้ถูกต้องครับ
แต่พึงระมัดระวังมิให้ใครมายืมชื่อร้านค้าไปทำธุรกิจที่ไม่ใช่รายได้ของเราอีก
แนะนำให้เขาทำเอง หรือถือเป็นโอกาสรับทำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี่ และชำระภาษีติดต่อสรรพากรแทนให้เสียเลยครับ

จะจดทะเบียนบริษัททำในด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยจะใช้โฉนดที่ดิน (ชื่อตัวเอง) เป็นทุนจดทะเบียนบริษัท จะต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการและการเตรียมเอกสารอย่างไรบ้างคะ จะทำเรื่องขอจดเองแบบออนไลน์ค่ะ

Inbox: อาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562 เวลา 11:46 น.
คุณ Sasinicha Jan
สวัสดีค่ะอาจารย์ ขอเรียนสอบถามอาจารย์ค่ะ
กำลังจะจดทะเบียนบริษัททำในด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยจะใช้โฉนดที่ดิน (ชื่อตัวเอง) เป็นทุนจดทะเบียนบริษัท จะต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการและการเตรียมเอกสารอย่างไรบ้างคะ จะทำเรื่องขอจดเองแบบออนไลน์ค่ะ
กราบขอบพระคุณค่ะ🙏
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ลองเข้าไปที่เวบไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
บริการออนไลน์ - DBD : กรมพัฒนาธุรกิจการค้าhttps://www.dbd.go.th/more_news.php?cid=2
จากนั้น เลือกหัวข้อ ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) 101491 ภายใต้ หัวข้อการจดทะเบียนธุรกิจ
https://ereg.dbd.go.th/ERegistMem…/nonmemberpages/home.xhtml
สามารถ download คู่มือการลงทะเบียนผู้ใช้งานเพื่อใช้บริการระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ มาศึกษาได้ก่อน
https://drive.google.com/…/0B4n_XKC9i3mUanEtOUxZb2V3UGM/view
ลองดูนะครับ สายกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่ใช่ field ของผมครับ

บริษัทจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ธุรกิจซื้อมาขายไป มีซื้อสินค้าจากประเทศจีน

Inbox: จันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 22:57 น.
คุณ Rungtip Jiamphol
เรียนถาม อ.สุเทพ
บริษัทจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ธุรกิจซื้อมาขายไป มีซื้อสินค้าจากประเทศจีน ในวันที่ 15 ก.พ. นำเข้าสินค้ามีผ่านพิธีการศุลกากรและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมากิจการได้นำเอกสารและใบเสร็จศุลกากร ไปยื่นแบบ ภ.พ.30 โดยใช้ยอดสินค้าและภาษีในเอกสารศุลกากรไปแสดงในแบบ ภ.พ.30 ยื่นในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยไม่ได้ใช้แบบ ภ.พ.36 และราคาสินค้าและฐานภาษีปฏิบัติแบบนี้ถูกต้องไหม ทั้งนี้ การซื้อสินค้ายังไม่ได้จ่ายชำระเงินครบกำหนด 15 เม.ย. เพราะมีเครดิต 60 วัน
ขอบพระคุณอาจารย์สุเทพ มา ณ ที่นี้
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบธุรกิจซื้อมาขายไป มีซื้อสินค้าจากประเทศจีน ในวันที่ 15 ก.พ. นำเข้าสินค้ามีผ่านพิธีการศุลกากรและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมากิจการได้นำเอกสารและใบเสร็จศุลกากร ไปยื่นแบบ ภ.พ.30 โดยใช้ยอดสินค้าและภาษีในเอกสารศุลกากรไปแสดงในแบบ ภ.พ.30 ยื่นในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยไม่ได้ใช้แบบ ภ.พ.36 นั้น
การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาเข้า ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรตามมาตรา 78/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้ฐานภาษีตามมาตรา 79/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
....“มาตรา 79/2 ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
........(1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าของสินค้านำเข้า โดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ตามที่กำหนดในมาตรา 77/1(19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
.............การนำเข้าสินค้าที่ผู้นำเข้าได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือตามกฎหมายอื่น ให้นำอากรขาเข้าซึ่งได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนดังกล่าวมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี
.............ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ได้แก่ราคาสินค้าบวกด้วยค่าประกันภัยและค่าขนส่งถึงด่านศุลกากรที่นำสินค้านั้นเข้าในราชอาณาจักร เว้นแต่
.............(ก) ในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศให้ราคาในท้องตลาด สำหรับของประเภทใดประเภทหนึ่งที่ ต้องเสียอากรตามราคาเป็นรายเฉลี่ยตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสินค้าในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ.
.............(ข)ในกรณีที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินราคาเพื่อเสียอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสินค้าในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ.
และราคาสินค้าและฐานภาษีปฏิบัติแบบนี้ถูกต้องไหม ทั้งนี้ การซื้อสินค้ายังไม่ได้จ่ายชำระเงินครบกำหนด 15 เม.ย. เพราะมีเครดิต 60 วัน”
ดังนั้น บริษัทฯ ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แม้จะยังได้ชำระราคาสินค้า แต๋ก็สามารถใช้สิทธิในภาษีซื้อตามที่จ่ายให้แก่กรมศุลกากรได้